ผอ.ศูนย์เอราวัณ กทม.เผยตัวเลขผู้บาดเจ็บจากการก่อจลาจลของม็อบหางแดงว่า ขณะนี้ยอดล่าสุดอยู่ที่ 68 ราย กระจายอยู่ในโรงพยาบาลเครือข่ายฯ ทั้งโรงพยาบาลทหารผ่านศึก,ราชวิถี,รามาธิบดี,พระมงกุฏฯ และวชิระฯ ระบุพร้อมเต็มที่เพื่อประสานงานนำผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที แย้มค่อนข้างห่วงความปลอดภันเจ้าหน้าที่ ย้ำกาชาดสำรองเลือดพร้อมใช้ 300 ยูนิต น่าจะเพียงพอ
วันนี้ (13เม.ษ.52) เวลาประมาณ 08.45 น. นพ.เพชรพงศ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ กรุงเทพทมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้บาดเจ็บกรณีม็อบเสื้อแดงก่อจลาจลป่วนชาติและสร้างความรุนแรงหลายประการ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อวานที่ผ่านมา แต่กลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังไม่หยุดก่อความไม่สงบ จนเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจึงจำต้องสลายการชุมนุม ส่งผลให้เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บทั้งหมดล่าสุดที่เพิ่งได้ตัวเลขมาเมื่อช่วงสายที่ผ่านมารวม 71 คน
“เราประสานส่งตัวผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลเครือข่าย ซึ่งจากการอัพเดทล่าสุดเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมานี่เอง ตอนนี้ตัวเลขผู้บาดเจ็บ 68 รายครับ อยู่ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก 32 ราย , ราชวิถี 8 ราย ตอนนี้รับไว้ 4 ราย , รามาธิบดีเข้ารับการรักษา 24 ราย แต่รับไว้เป็นคนไข้ใน 4 ราย แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเพราะบางรายแพทย์ประเมินว่าถ้าหากให้กลับบ้านจะไม่ปลอดภัย , ที่รพ.พระมงกุฏฯ รับไว้3 ราย และวชิรพยาบาล 1 ราย
และในจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งหมดนี้ เราพบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสิ้น 23 ราย ที่เหลือเป็นพลเรือน แต่รายชื่อผู้บาดเจ็บคงต้องขอไว้สักนิด เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติการกำลังยุ่งมาก ผมจึงยังไม่ได้ถามรายละเอียดในส่วนนี้
ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัส จริงๆ เราพบผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืน มีบางรายโดนยิงที่หัวเข่า เราก็ผ่าตัดแล้ว เท่าที่ประเมิน เรามีกรณีเช่นนี้ ที่ถือว่าค่อนข้างสาหัส แต่สาหัสวิกฤติจริงๆ ไม่มีครับ”
นพ.เพชรพงศ์กล่าวถึงความกังวลในขณะนี้ว่า ที่วิตกที่สุดคือความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพราะจากสถานการณ์ล่าสุดที่มีการใช้อาวุธปืน ก็ห่วงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่จะเข้าไปในพื้นที่เพื่อปฏิบัติภารกิจรับผู้ป่วยออกมา ก็มีการกำชับให้ระมัดระวัง
ส่วนความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนั้น ผอ.ศูนย์ฯเอราวัณ กทม. ระบุว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจ เพราะทางศูนย์ฯ ได้มีการสั่งการให้เตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้ว เฉพาะรถพยาบาลได้เตรียมไว้ 40 คัน แต่ละคันจะมีเจ้าหน้าที่ประจำรถอย่างน้อยที่สุด 3 คน บวกกับทีมปฏิบัติงานแต่ละชุดต่างหาก
“ส่วนกรณีโลหิตสำรอง ได้ประสานงานไปทางสภากาชาดไทยแล้วก่อนหน้านี้เพื่อเตรียมพร้อม ทางกาชาดตอบกลับมาว่า ได้เตรียมสำรองโลหิตไว้แล้ว พร้อมใช้ได้เลยทันที 300 ยูนิต ซึ่งน่าจะเพียงพอ แต่ก็ยังวางใจอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะไปถึงไหน”
นพ.เพชรพงศ์กล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนไม่ต้องห่วง การทำงานระหว่างศูนย์ฯ กับโรงพยาบาลเครือข่ายฯ เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เพราะเคยร่วมงานกันหลายครั้ง หากโรงพยาบาลใดเต็มหรือขาดอุปกรณ์การแพทย์จำเป็น จะประสานดูแลให้เต็มที่ รับรองว่าประชาชนทุกคนที่บาดเจ็บจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด