โรคสมองเสื่อมเกาะกินผู้สูงอายุไทยเป็นเหตุหายออกจากบ้านปี 51 ถึง 86 คน ในจำนวนนี้ 54 คนเป็นมีอาการสมองเสื่อม เตือนหากพบอาการซึม พูดแต่เรื่องเก่าๆ หลอนคิดว่ามีคนทำร้าย ควรพาพบแพทย์รักษา เผยลูกหลานให้แต่สิ่งของไม่เคยให้ความรักความเอาใจใส่ วอนในเทศกาลสงกรานต์กลับบ้านไปดูแลญาติผู้ใหญ่ด้วย
วันนี้ (10 เม.ย.)นางสาววิจิตรา พันธ์แสง นักกฎหมาย ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่หลายคนมักพากันกลับบ้าน ไปรดน้ำดำหัวพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลยจากลูกหลานเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลสถิติการรับแจ้งคนหายของศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ระหว่างปี 2550-2551 พบว่า มีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่หายตัวออกจากบ้านไปจำนวน 86 คน โดยในจำนวนนี้ มีผู้สูงอายุที่หายออกจากบ้านด้วยสาเหตุของอาการสมองเสื่อมถึง 54 คน และมากกว่าครึ่งของครอบครัวผู้สูงอายุที่หายตัวไปนั้นไม่ทราบว่าผู้สูงอายุดังกล่าวป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งต้องมีการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไปที่ต้องดูแลกันค่อนข้างมากอยู่แล้ว
นางสาววิจิตรา กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรคสมองเสื่อม หมายถึง กลุ่มอาการต่างๆที่เกิดขึ้นจากการที่สมองทำงานเสื่อมประสิทธิภาพลง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการที่สังเกตเห็นได้ง่ายๆต่อไปนี้ 1.ความจำบกพร่อง จำได้แต่เรื่องเก่าๆ พูดซ้ำๆ ซากๆ 2.ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง ไม่สามารถอาบน้ำ-เข้าห้องน้ำเองได้ 3.ความสามารถในการใช้ภาษาลดลง เรียกชื่อสิ่งของไม่ได้ เรียกชื่อสลับกัน b h 4.อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เชื่องซึม ก้าวร้าว หงุดหงิด วิตกกังกล นอนไม่หลับ 5.ความสามารถในการตัดสินใจลดลง เมื่อเจอกับปัญหาก็จะนิ่งเฉย ไม่รู้จะจัดการอย่างไร 6.มีอาการคล้ายโรคจิต เห็นภาพหลอน คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย 7.ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ซับซ้อนได้ สิ่งที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ครบ 8.หลงทางบ่อยๆ เดินไปมาอย่างไร้จุดหมาย
“หากพบว่ามีอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา แม้โดยทั่วไปแล้ว โรคสมองเสื่อม จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาและดูแลที่ดีและถูกต้องจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข ซึ่งผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงให้ได้ ให้ความรักความเข้าใจ อย่าเคร่งเครียดจนเกินไป ควรจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีความสุข เช่น การพูดคุยเรื่องเก่าๆ คอยสังเกตและหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้ผู้ป่วยโมโห ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุ และต้องพาไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง” นางสาววิจิตรา กล่าว
นักกฎหมาย ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวอีกว่า สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลูกหลานส่วนใหญ่ต่างพากันหอบหิ้วข้าวของตามแต่กำลังที่จะซื้อหากันได้ไปกราบไหว้ หลายครั้งที่เสื้อผ้า ข้าวของหลายชิ้นเหล่านั้นถูกเก็บทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ นั่นเป็นเพราะสิ่งของดังกล่าวไม่ถูกใจท่าน หรือเป็นเพราะมีสิ่งอื่นที่ผู้สูงอายุเหล่านั้นควรจะได้รับมากกว่า นั่นคือความรัก ความเอาใจใส่นั่งเอง
ดังนั้น สงกรานต์ปีนี้ นอกจากกลับบ้านไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว อย่าลืมหอบเอาความดูแลใส่ใจไปให้ท่านด้วย ลองสังเกตดูว่าท่านมีอาการผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยกันหาวิธีบำบัดรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ครอบครัวของคุณอาจต้องพลัดพราก หรือสูญเสียคนที่รักและเคารพไปอย่างน่าเสียดาย