xs
xsm
sm
md
lg

แฉเรียกเงินแลกย้าย ผอ.-ครูเหยียบ 2 ล้าน เรื่องร้องเรียนอื้อ ศธ.ปัดให้ถามเขตเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ศรีราชา เจริญพานิช
เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน แฉ เรื่องร้องเรียน ศธ.อื้อ! มากเป็นอันดับ 3 โดยเฉพาะเรื่องเรียกเงินแลกโยกย้าย เผย ย้าย ผอ.โรงเรียนข้ามเขต ราคาสูงถึง 1-2 ล้านบาท ส่วนย้าย ขรก.ครูราคาอยู่ที่ 1-5 แสนบาท นิติกรเอาด้วยดองคำสั่งย้าย หากอยากให้เร็วต้องจ่ายอีก 5 หมื่น จวก ศธ.ปากว่าตาขยิบ ขอข้อมูลปัดให้ตามจาก สพท.เผย “คุณหญิงกษมา” ทำหนังสือให้แจ้งเรื่องถึง สพท.โดยไม่ต้องผ่าน ศธ.ทำต้นสังกัดไม่รู้เรื่องที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา ประธานคุรุสภา รับเคยได้ข่าวคิดค่าย้ายตามระยะทาง กม.ละ 500-5,000 บาท

ศ.ศรีราชา เจริญพานิช เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับข้าราชการครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นจำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนของ ศธ.ประมาณ 300-400 เรื่อง นับว่า ศธ.เป็นหน่วยงานที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์แลกกับการแต่งตั้งโยกย้าย โดยเรื่องดังกล่าวมีอยู่ในทุกเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งนี้ หากเป็นการโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนข้ามเขตพื้นที่การศึกษาราคาจะอยู่ที่ 1-2 ล้านบาทขึ้นไป หากย้ายข้าราชการครูอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันราคาอยู่ที่ 1-5 แสนบาท นอกจากนี้ ยังพบว่า บางกรณีมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายออกมาแล้ว แต่ฝ่ายนิติกรดองเรื่องไว้แล้วเรียกรับเงิน ประมาณ 50,000 บาท เพื่อแลกกับการเร่งเดินเรื่องให้เร็วขึ้น ซึ่งทุกพื้นที่จะเรียกรับเงินในอัตราใกล้เคียงกัน ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษานั้นดำเนินการจากส่วนกลาง คาดว่าจะมีปัญหาดังกล่าวน้อยกว่า

เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวอีกว่า หลายครั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำหนังสือประสานขอข้อมูลจาก ศธ.ถึงกรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามา แต่ก็เหมือนกับปากว่าตาขยิบ เพราะเมื่อขอข้อมูลอะไรไปก็จะปัดให้ไปขอที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เอง ขณะที่ สพท.ก็จะดองเรื่องเอาไว้ ซึ่งคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็เคยทำหนังสือมาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่าให้ประสานขอข้อมูลจาก สพท.โดยตรงไม่ต้องผ่าน ศธ.เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีผลเสีย คือ ศธ.เองในฐานะที่เป็นต้นสังกัดก็จะไม่ได้รับทราบข้อมูลเลยว่ามีเรื่องร้องเรียนอะไรเข้ามาบ้าง

“เรื่องร้องเรียนหลายเรื่องที่เข้ามาทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการสะสางการกระทำที่ไม่ชอบไปแล้วหลายเรื่อง ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ดำเนินการอยู่ แต่บางเรื่องที่จบไปหลายคนต้องเสียสิทธิเพราะเกษียณอายุราชการไปแล้ว เราทำได้เพียงแจ้งให้ต้นสังกัดทราบว่าใครทำอะไรที่ไม่เหมาะสมอย่างไร แต่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการลงโทษ อย่างไรก็ตาม ทางรัฐสภาแจ้งว่าปีหน้าจะมีการบันทึกลงในรายงานของรัฐสภาถือเป็นการประจานการกระทำของบุคคลเหล่านั้น” ศ.ศรีราชา กล่าว

เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอุปสรรคในการทำงานพอสมควร เนื่องจากมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่น้อยแต่เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาเยอะ นอกจากนี้กำลังคนที่มีอยู่ก็ยังไม่ได้ฝึกวิชาการสืบสวนสอบสวนจึงไม่รู้เทคนิควิธีที่ดีในการเข้าถึงข้อมูล เพราะข้อมูลที่ได้มาส่วนใหญ่ใช้วิธีเชื่อมโยงกับคนที่รู้จัก ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่ถูกร้อง เรียนก็ไม่ให้ความร่วมมือ เพราะรู้ว่าจะไปจับผิดก็จะปกปิดทำให้ทำงานลำบากขึ้น

นายดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า ตนก็เคยได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวเช่นกัน โดยจะเป็นการร้องเรียนถึงอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.บางเขตพื้นที่ที่มีการใช้อำนาจเกินเหตุ เรียกร้องเงินในการโยกย้าย คิดตามระยะทาง ซึ่งราคาจะอยู่ประมาณกิโลเมตรละ 500-5,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนการแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ขอย้ายจะยื่นคำร้องขอย้ายไปที่ สพท.และให้เข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ค.ก.ศ.) เขตพื้นที่ เพื่อพิจารณา หากพิจารณาให้ย้ายก็จะส่งชื่อไปยังเขตพื้นที่ปลายทาง ซึ่ง อ.ค.ก.ศ.เขตปลายทางจะพิจารณาหากมีอัตราว่างก็จะพิจารณารับย้าย ส่วนการโยกย้ายข้าราชการครูของ ศธ.นั้น จะต้องยื่นเรื่องผ่านผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนจะให้ความเห็นว่าอนุญาตให้ย้ายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องขอย้ายของข้าราชการครูก็จะต้องถูกส่งให้ อ.ค.ก.ศ.เขตพื้นที่เช่นกัน หากเห็นว่าสามารถย้ายได้ข้าราชการครูคนดังกล่าวก็จะได้ย้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น