ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นด้วยอิทธิพลของทะเลอันดามัน ประกอบกับหนทางที่คดเคี้ยวกว่าจะเดินทางไปถึงทำให้ดินแดนแห่งสมญา “ฝนแปด แดดสี่” อย่าง “จังหวัดระนอง”... จังหวัดเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในอ้อมกอดแห่งภูผาและป่าอันสมบูรณ์ ค่อนข้างจะท้าทาย “ความอึด” ของผู้ที่มาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะถนนที่มุ่งสู่ระนอง ที่นักเดินทางหลายคนถึงกับเอ่ยปากออกมาว่า “ปราบเซียน” พอๆ กับทางขึ้นแม่ฮ่องสอน ทำให้กว่าจะไปถึงก็หลังขดหลังแข็ง เมื่อยขบไปตามๆ กัน แต่รับรองว่า “คุ้มค่า” เมื่อมาเยือนจริงๆ โดยเฉพาะขณะนี้จังหวัดระนองได้เปิดรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยนำ “ไฮไลต์” ของดีของจังหวัดอย่าง “น้ำแร่ร้อน” มาเป็นจุดขาย
-1-
สมญาฝนแปด แดดสี่ ของจังหวัดระนองนั้น มาจากสภาพอากาศของจังหวัด ที่มีฝนตกรวมแล้วประมาณ 8 เดือน และมีแดดจัดอีกราวๆ 4 เดือน รวมถึงเป็นจังหวัดที่ครอบครองสถิติจังหวัดที่มีฝนตกชุกมากที่สุดในประเทศไทย และอาจจะเป็นเพราะสภาพอากาศเช่นนี้เอง ที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของระนอง ค่อนข้างสมบูรณ์ มีแต่ป่าไม้เขียวครึ้มไปทั้งจังหวัด ทำให้ความร้อนจากแดด ไม่สู้จะระอุเหมือนในกรุงเทพที่มีแต่เงาป่าคอนกรีต
และนอกจากธรรมชาติที่สวยงาม อาหารทะเลจากทะเลน้ำลึกที่แสนจะยั่วน้ำลาย กาหยูหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ อันขึ้นชื่อ ตลอดจนประวัติศาสตร์อันน่าศึกษาของจังหวัดระนองที่เป็นจังหวัดเก่าแก่มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ระนองยังเป็นเมืองที่อุดมไปด้วย “น้ำแร่ร้อน” ที่มีคุณภาพทั้งในเชิงการสร้างเสริมสุขภาพและการรักษาโรค ซึ่งคนระนองเอง ได้ใช้ประโยชน์สินทรัพย์ทางธรรมชาติของตนเองมานับร้อยปีแล้ว
ด้วยเล็งเห็นคุณค่าของน้ำแร่ร้อน ผนวกกับความน่ามาเยือนของจังหวัดระนอง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลระนอง พัฒนาการเสริมสร้างสุขภาพและการบำบัดรักษาโรคด้วยน้ำแร่ร้อนขึ้น ในรูปแบบของ “สปาไทย” ภายใต้ชื่อชุดเก๋ “เจ้าเรือนสปา” ที่มาพร้อมกับ “ศูนย์สาธิตและแสดงผลิตภัณฑ์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร”
“เรามีศูนย์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยทั้งหมด 12 แห่ง ทั่วประเทศ แต่ที่เลือกเปิดที่จังหวัดระนองก่อน ก็เพราะศูนย์ที่ระนองพร้อมที่สุด รวมถึงจุดเด่นในเรื่องของน้ำแร่ร้อนด้วย จริงๆ เจ้าเรือนสปาเปิดบริการมา 3 ปีแล้วครับ แต่นี่เราเปิดเป็นทางการ ซึ่งนอกจากจะเปิดเพื่อให้บริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแล้ว ยังเป็นการต่อยอดทางธุรกิจ เป็นการสนับสนุนทางธุรกิจ โดยเฉพาะน้ำแร่ร้อนที่เป็นจุดขายซึ่งที่อื่นไม่มี น่าจะเป็นตัวดึงดูดที่ดีครับ” มานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเบื้องต้น
ด้านนพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทยให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดเด่นที่สุดของเจ้าเรือนสปาคือน้ำแร่ร้อน ว่า น้ำแร่ร้อนนี้เป็นสมบัติของชาวระนอง และชาวระนองก็ได้ใช้รักษาฟื้นฟูสุขภาพมานานแล้ว โดยบ่อน้ำแร่ร้อนดังกล่าว ทางจังหวัดระนองได้ปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ “รักษะวาริน” มีการทำปากบ่อแต่ละบ่อให้สวยงาม รวมถึงการจัดภูมิทัศน์และจุดบริการต่างๆ ให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งพักผ่อน หรือลานซีเมนต์ที่สร้างครอบปากบ่อน้ำแร่ร้อน เพื่อให้ไอร้อนอังขึ้นมาบนพื้นซีเมนต์ ให้ผู้สนใจไปนอนเอาส่วนต่างๆ ของร่างกายแนบกับซีเมนต์อุ่นๆ เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย และบำรุงสุขภาพ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากเชื่อว่าไอร้อนจากน้ำแร่ร้อนจะมีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องกล้ามเนื้อและกระดูก รวมไปถึงทำให้สุขภาพดีอีกด้วย
“น้ำแร่ร้อนเหล่านี้เป็นน้ำผุดขึ้นมาจากพื้นดินโดยธรรมชาติของมัน แล้วก็ไหลตลอดเวลา ซึ่งหากเราไม่นำมาใช้ มันก็จะไหลลงแม่น้ำ ไปผสมกับน้ำธรรมดา เสียของโดยเปล่าประโยชน์ มีบางโรงแรมในระนองนำรถมาขนเพื่อนำไปบริการแขกของโรงแรม แต่ของสปาเจ้าเรือนนี้ เราต่อท่อตรงมาจากสวนสาธารณะรักษะวาริน ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มาที่สปาเลย ซึ่งน้ำแร่ที่เรานำมาใช้ในอ่างน้ำร้อน เราจะไม่มีการผสมอะไรลงไปเลย มีอย่างเดียวคือการปรับอุณหภูมิ เพราะกว่าน้ำจะเดินทางมาตามท่อ ความร้อนอาจจะคลายตัว เราจึงต้องอุ่นให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการแช่”
-2-
ถึงตรงนี้ผู้สนใจหลายคนอาจจะมีจิตใจโน้มเอียงไปในเชิงอยากจะเดินทางไปเที่ยวระนอง พร้อมไปลองใช้บริการ “เจ้าเรือนสปา” ขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ยังกังวลถึงคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำแร่ร้อนดังกล่าว ซึ่ง ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทยยืนยันว่า น้ำแร่ร้อนดังกล่าวปลอดภัย
“ในส่วนของน้ำแร่ร้อน กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ แต่เชื่อว่าปลอดภัยไม่เป็นอันตรายเพราะคนระนองใช้กันมานานหลายชั่วคน และที่พิเศษก็คือ น้ำแร่ร้อนที่นี่ต่างกับที่อื่นเนื่องจากเป็นน้ำแร่ที่ไม่มีกำมะถัน จะสังเกตได้ว่า น้ำไม่มีกลิ่นฉุน และใสมาก เคยเอาไปส่องกล้องในห้องแล็ปเขายังคิดว่าเราเอาน้ำเปล่าไปส่อง คือ ใสชนิดไม่มีตะกอนอะไรเลย”
ด้านฐิติมา นาคบุปผา เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน กลุ่มการพยาบาล ประจำเจ้าเรือนสปา บอกเล่าถึงรายละเอียดด้านการบริการว่า นอกจากการแช่น้ำแร่ร้อนแล้ว ภายในเจ้าเรือนสปายังมีการบริการนวดรูปแบบต่างๆ ทั้งนวดหน้าหรือที่เรียกว่า “สปาหน้า”, นวดตัวแบบไทย, นวดน้ำมันตามธาตุเจ้าเรือน,นวดประคบ, นวดเฉพาะจุดปวด, นวดเท้าและทับหม้อเกลือ รวมไปถึงการแนะนำด้านโภชนาการสำหรับผู้ที่มาขอคำปรึกษาอีกด้วย
“สำหรับน้ำแร่ เราจะปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ระหว่า 40-42 องศาเซลเซียส ซึ่งจะดีต่อระบบโลหิต ทำให้โลหิตไหลเวียนดี กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ลงไปแช่ได้ มีข้อจำกัดเหมือนกันในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ จะไม่สามารถใช้บริการแช่น้ำแร่ร้อนได้ โดยเรามีทั้งอ่างรวมที่ลงได้ประมาณ 6-7คน หรือหากต้องการความเป็นส่วนตัว ก็จะมีอ่างเล็กในห้องมิดชิด ที่ลงได้ครั้งละ 1-2 คน
ส่วนการบริการนวดนั้น มีให้เลือกมากมายตามความต้องการของผู้มาใช้บริการ อย่างสปาหน้านี้เป็นสูตรของเราเอง สมุนไพรก็ผสมเอง ส่วนการนวดน้ำมันตามธาตุเจ้าเรือนนั้นจะต้องมีการสัมภาษณ์ก่อนว่าผู้มารับบริการเกิดเดือนไหน เพื่อจะจัดน้ำมันนวดได้ตามธาตุเจ้าของของคนนั้นๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน
และในส่วนของการนวดเฉพาะจุดเพื่อรักษาอาการปวดนั้น เราก็มีผู้เชี่ยวชาญที่จะนวดบรรเทาอาการบาดเจ็บให้ลดน้อยลง หลังจากใช้บริการผู้มารับบริการก็จะรู้สึกสบายขึ้น” ฐิติมา กล่าว
ในขณะที่วรรณา สีสุข วัย 29 ปี พนักงานนวดแผนไทยแห่ง “เจ้าเรือนสปา” กล่าวว่า เป็นคนระนองโดยกำเนิด ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการนวดแผนไทยมาก่อน แต่เมื่อมาสมัครที่นี่ ก็ได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษาอบรมการแพทย์แผนไทย หลักสูตรกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็ได้อบรมครั้งแรกไปแล้ว 120 ชั่วโมง
“พนักงานนวดแผนไทยที่นี่ทุกคนต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุขเสียก่อนจนผ่านหลักสูตรและได้รับการรับรอง จึงจะสามารถบริการด้านการแพทย์แผนไทยให้ลูกค้าได้ ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีประสบการณ์ แต่พอได้ไปอบรมก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้น ทั้งยังมีรายได้แบ่งเบาภาระการเงินของครอบครัวด้วย” พนักงานนวดคนขยันทิ้งท้าย