xs
xsm
sm
md
lg

“สาทิตย์” คาด พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ร่างเสร็จ เม.ย.ก่อนสภาผ่านทุกวาระพร้อมบังคับใช้ก่อน มิ.ย.53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“สาทิตย์” ดัน กม.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หลอมร่างรัฐกับร่างปชช.เสร็จภายใน เม.ย.คาดว่า สิ้น ธ.ค.สภาผ่านทุกวาระ มีผลบังคับใช้ก่อน มิ.ย.2553

วานนี้ (12 มี.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โจทย์ข้อแรกที่ได้ไปมอบนโยบายในรัฐบาลกำกับดูแลหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คือ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นภารกิจแรก ซึ่งขณะนี้ร่างฉบับรัฐบาลได้อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(สคก.) ได้พิจารณาเสร็จแล้ว หากส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรีนจะเชิญตัวแทนจาก สคบ.ภาคประชาชน กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนละ 5 คน มาหารือร่วมกัน เพื่อรวมร่างฉบับประชาชนและร่างของภาคประชาชนให้เป็นร่างเดียวแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้

“การหารือดังกล่าวจะดำเนินการมให้แล้วเสร็จภายในครั้งเดียว เอาแต่เฉพาะประเด็นที่เห็นแตกต่างกันมาหารือ และจะนำร่างกฎหมาย 2 ฉบับมาหลอมเป็นฉบับเดียว ฉบับที่รัฐบาลจะเสนอต่อวิปรัฐบาลและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป อย่างน้อยต้นเดือน พ.ค.จะต้องบรรจุเป็นวาระ และเปิดสมัยการประชุมสภาอีกครั้งในเดือน ส.ค.ก็จะเริ่มพิจารณา เชื่อว่า 1 สมัยการประชุมสภา น่าจะจบวาระ 2 และ 3 ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นส่งต่อไปวุฒิสภา หากแก้ไขไม่เยอะจึงส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ไม่เกิน มิ.ย.2553”นายสาทิตย์ กล่าว

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ไม่ต้องกังวลหากรัฐบาลจะไปก่อน เพราะหากมีการยุบสภากฎหมายที่ยังค้างระเบียบวาระต่างๆ ยังคงอยู่ เมื่อรัฐบาลใหม่มาดำเนินการก็จะนำวาระของสภาผู้แทนราษฎรมาพิจารณาว่ามีกฎหมายใดบ้างจะดำเนินการต่อไป ถ้ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็ยินยันจะเอากฎหมายดังกล่าวกลับมาเดินหน้าต่อไป

“ในส่วนของเรื่องงบประมาณที่ร่างกฎหมายของภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณ 5 บาทต่อประชากร หรือประมาณ 300 ล้านบาทนั้น งบมากน้อยไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อยู่ที่ว่างบประมาณดังกล่าวมาจากฐานคิดอะไร และมีแผนงานในการดำเนินการที่ใช้งบประมาณนั้นเพียงใด ซึ่งแนวคิดของภาคประชาชนก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเกรงว่าภารกิจขององค์การอิสระฯจะมีมากมาย แต่งบประมาณจะได้รับการอนุมัติน้อย ดังนั้น ต้องหารือกันอีกครั้ง ทั้งนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนอยู่แล้ว อาจหนุนในลักษณะองค์กรมหาชนที่ให้งบประมาณเป็นก้อน บริหารจัดการเองได้ โดยมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินคอยตรวจสอบ”นายสาทิตย์ กล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ฐานการคิดงบประมาณขององค์การอิสระฯนั้นมาจากต้นทุนที่ว่าจะต้องมีองค์การอิสระฯที่เป็นเครือข่ายในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อย่างน้อยก็ใช้งบประมาณ 76 ล้านบาท อีกทั้งตามภารกิจต้องจัดการระดมความคิดเห็นเป็นงานสมัชชาประจำปี ซึ่งจะต้องมีการนำงานวิจัยมานำเสนอ ซึ่งงบประมาณด้านการสนับสนุนการวิจัย การจัดงานสมัชชาคุ้มครองผู้บริโภคล้วนแต่ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น เทียบได้กับการดำเนินการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่แต่ละปีก็ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

“ทั้งนี้ จุดเด่นของร่างภาคประชาชน คือ อำนาจหน้าที่ที่กว้างกว่าฉบับภาครัฐ ที่เน้นการให้ความเห็นด้วยข้อมูลงานวิจัย รวมถึงมีอำนาจในการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ และมีความเป็นอิสระ โดยไม่มีนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานองค์การอิสระฯ เพราะหากมีประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย นายกฯไม่ลงนามก็เป็นเรื่องลำบากในการทำงาน และงบประมาณที่เป็นอิสระซึ่งเป็นหัวใจของฉบับประชาชน เพราะปลอดการแทรกแซงจากภาคการเมือง”น.ส.สารี กล่าว

นายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาของบ้านเมืองในทุกวันนี้ นอกจากปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ ยังมีปัญหาคณะกรรมการสรรหาด้วย เพราะการได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหาที่มีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ได้คณะกรรมการที่ดีมีประสิทธิภาพด้วย ที่ผ่านมาก็พบว่าคณะกรรมการสรรหามีปัญหามาโดยตลอดจนเรียกว่าเป็นปัญหาระดับชาติ จากประสบการณ์ในสมัยเป็นส.ว.ได้เป็นคณะกรรมการสรรหาตัวคณะกรรมการสรรหาองค์อิสระหลายแห่ง พบว่า ในการประชุมลับ เห็นว่า ผู้รับสมัครเป็นคณะกรรมการสรรหาคนหนึ่งมีชื่อเสียงในทางลบมากจนทุกคนก็ยอมรับว่าไม่ดีที่สุดในทั้งหมด แต่ท้ายสุดในการลงคะแนนเลือกคณะกรรมการสรรหากลับโหวตให้คนที่แย่ที่สุดคนนั้นได้คะแนนมากสุด ดังนั้น จึงอยากให้ร่างกฎหมายนี้มีการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหาให้ดีๆ เพื่อให้ได้คณะกรรมการตัวจริงที่ดีมีประสิทธิภาพ และองค์การอิสระฯจะได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น