กทม.เดินหน้าเต็มสูบ แก้ปัญหาหนี้สินด้านที่อยู่อาศัยภาคประชาชนที่เป็นหนี้เสียสถาบันการเงินถึง 50,000 ราย กว่า 1 แสนล้านบาท เริ่มเปิดลงทะเบียนที่สำนักงานเขตเริ่ม พ.ค.นี้ พร้อมนำร่องแก้หนี้บัตรเครดิตข้าราชการ-ลูกจ้าง กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ถึงนโยบายแก้ไขหนี้ภาคประชาชน ว่า กทม.ร่วมกับศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ สถาบันการเงิน จัดโครงการ แก้ปัญหาหนี้สินด้านที่อยู่อาศัยภาคประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยในการแก้ไขปัญหากับสถาบันการเงิน พร้อมกับสร้างงานให้บัณฑิตที่ยังไม่มีงานทำบางส่วน โดยสำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย กทม.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งจะเปิดตัวโครงการและลงทะเบียนในต้นเดือนพฤษภาคมนี้
ด้านนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า จากวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จนถึงปัจจุบันพบว่า ยังมีลูกหนี้ในสถาบันการเงินต่างๆ ประมาณ 50,000 ราย เป็นหนี้เสียประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้กำลังจะถูกฟ้อง ถูกยึดทรัพย์ หรือกำลังจะถูกนำที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ของตนไปขายทอดตลาดเพราะไม่สามารถจัดการหนี้ได้ และจากผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้จะทำให้มีจำนวนลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานนั้น กทม.จะให้ทั้ง 50 เขต เปิดรับลงทะเบียนประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องหนี้สิน รวบรวมข้อมูล แยกกลุ่มลูกหนี้ โดยแยกผู้ลงทะเบียนเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้ เช่น คิดดอกเบี้ยผิด คิดเงินต้นผิด ให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีที่จัดตั้ง โดยกระทรวงยุติธรรม และกลุ่มที่เจ้าหนี้ไม่มีความผิดพลาดในการเรียกหนี้กับลูกหนี้ กลุ่มนี้จะใช้วิธีการประนีประนอมเพื่อขอผ่อนผันในการลดดอกเบี้ย ลดเงินต้น หรือทางอื่นที่ลูกหนี้สามารถมีที่อยู่อาศัยต่อไปได้ ซึ่งโดยเฉลี่ยลูกหนี้จะมีหนี้รายละ 2 ล้านบาท
นายธีระชน กล่าวอีกว่า เมื่อได้รับข้อมูลแล้วจะจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยคัดแยกลูกหนี้ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.กลุ่มที่สามารถผ่อนชำระกับเจ้าหนี้เดิม โดยธนาคารเจรจากับลูกหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และลดหนี้ 2.กลุ่มที่ต้องหาสถาบันการเงินใหม่เพื่อรองรับพิจารณาหลักทรัพย์และตัวลูกหนี้เพื่อทำการรีไฟแนนซ์ (ReFinance) กับสถาบันการเงินที่สนใจเข้าช่วยเหลือ 3.กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยทันที ได้แก่ ผู้ที่กำลังถูกบังคับขายทอดตลาด ผู้กำลังถูกพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีในศาล และผู้ที่อยู่ในช่วงการแจ้งเตือน ทั้งนี้ คาดว่ากทม.จะส ามารถช่วยเหลือได้ไม่น้อยกว่า 20% หรือคิดเป็นลูกหนี้ประมาณ 10,000 รายโดยใช้เวลาฟื้นฟูหนี้ 3-5 ปี ซึ่งเบื้องต้นธนาคารอิสลามยินดีจะเข้ามารีไฟแนนช์ให้เป็นรายแรก
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.ยังจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้สินจากบัตรเครดิตซึ่งมีประมาณ 2.5 แสนราย โดยจะนำร่องกับข้าราชการ ลูกจ้างในสังกัด กทม.ก่อนหากได้ผลดีจึงขยายผลไปยังภาคประชาชน ทั้งกทม.จะเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอซื้อหนี้กลุ่มนี้ออกมาเพื่อให้สามารถผ่อนชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลง ส่วนผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าขายที่เป็นหนี้โดยสุจริต กทม.ก็จะประสานธนาคารเข้ามาช่วยเหลือเป็นลำดับขั้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้รายใด มีปัญหาเร่งด่วนโดยที่อยู่อาศัยกำลังจะถูกขายทอดตลาดให้สามารถติดต่อไปยังศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2319-1161-4 ซึ่งกำลังจัดโครงการสินทรัพย์สุดท้ายของประชาชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นก่อน