สวช.ทุ่ม 10 ล้าน จัด “มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ” 17-19 ก.พ.นี้ ขนภูมิปัญญา 4 ภาคร่วมงานคับคั่ง หวังกระตุ้นสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายปรีชา กันธิยะ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ : ปราชญ์แผ่นดิน ศิลป์เครือข่าย สานสายใยชุมชน” ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ เพื่อนำเสนอคุณค่า สาระ และความสำคัญของวัฒนธรรมในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ โดยมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัด อำเภอ และตำบล ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมชมงานกว่า 2,000 คน
นายปรีชา กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท เพื่อเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรม และภูมิปัญญาในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ หลังจากนี้จะมีนการนำรูปแบบการจัดงานครั้งนี้ไปจัดในภูมิภาคต่างๆ ด้วย
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการภูมิปัญญาไทย ในเรื่อง “ยารักษาโรค” จากพืชสมุนไพร 4 ภาค “เครื่องนุ่งห่ม” ซึ่งเป็นชุดจากชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ไทลื้อ ภูไท ไทยวน “การปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม” และนิทรรศการ “ศิลปินแห่งชาติ” พร้อมกิจกรรมถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ด้านทัศนศิลป์ กิจกรรมมารยาทไทย กิจกรรมฉายหนังกลางแปลง กิจกรรมเกมสีขาว โดยเฉพาะกิจกรรมสาธิตวิถีชีวิตหมู่บ้านวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน 4 ภาค ในทุกมิติทั้งด้านประเพณี พิธีกรรม การละเล่นพื้นบ้าน และงานส่งเสริมอาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งหัตถกรรมและคหกรรม ซึ่งได้คัดสรรชุมชนเข้มแข็งจาก 4 ภูมิภาคมาจัดแสดงเพื่อให้เป็นต้นแบบแก่ชุมชนต่างๆ นำไปประยุกต์ในท้องถิ่นของตนเอง
นอกจากนี้ยังมีการประชุมสัมมนา “การขยายเครือข่ายสภาวัฒนธรรมตำบล และโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน” ที่มีการอภิปรายใน 3 หัวข้อ หลัก คือ การบริหารงานวัฒนธรรมกับการมีส่วนร่วมของประชาชน การขับเคลื่อนสภาวัฒนธรรมและประสบการณ์แห่งความสำเร็จ รวมทั้งบทเรียนแห่งความสำเร็จโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน
นายปรีชา กล่าวต่อว่า กิจกรรมต่างๆ ที่จัดนำมาในครั้งนี้ สวช.มุ่งเน้นให้ตระหนักถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายให้ทั้งความรู้ และความบันเทิง ถือเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสามารถนำภูมิปัญญาไทย จึงขอเชิญชวนเยาวชน ประชาชนผู้สนใจ สถาบันการศึกษา รวมถึงครอบครัวได้พาบุตรหลานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมอันดีงามของไทยร่วมกัน นอกเหนือจากสาระความรู้ และความสนุกสานที่ได้รับแล้ว ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป