รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้มงวดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หากพบผู้กระทำผิดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดำเนินการทางกฎหมาย
วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2552) ณ วิคตอรี่ พ้อยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
นายมานิต กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากกว่า 60 โรค และเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ ความรุนแรงในครอบครัวและสังคมซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนส่วนกลางตั้งอยู่ที่กรมควบคุมโรค และส่วนภูมิภาคประจำสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารพร้อมทั้งรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย และจัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในการปฏิบัติตามกฎหมายของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนซึ่งที่ผ่านมามีผู้โทรศัพท์เข้ามาสอบถาม และร้องเรียนผ่านศูนย์ จำนวน 1,562 ครั้ง
นายมานิต กล่าวต่อว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลตั้งแต่ผู้ผลิต หรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องจัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิต หรือนำเข้าตามมาตรา 26 หากพบไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 27 และมาตรา 31 ว่าด้วยการห้ามขายและห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือบริเวณต่อไปนี้ ได้แก่ วัด สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือ ร้านขายยา สถานที่ราชการ หอพัก สถานศึกษา เช่น วิทยาลัย โรงเรียน หรือปั๊มน้ำมัน หรือสวนสาธารณะของทางราชการเป็นที่จัดให้พักผ่อนหย่อนใจหรือออกกำลังกาย สถานที่ทั้งหมดนี้ หากพบผู้ใดนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปจำหน่าย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งห้ามขายโดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ เช่น ตู้หยอดเหรียญ การเร่ขาย หรือขายลดราคา หรือจัดโปรโมชันนำชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาใช้เป็นส่วนลดในการแลกซื้อบัตรเข้าชมงานการแสดงต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามขายให้ผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ หากพบมีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือจูงใจให้ผู้อื่นอยากดื่มโดยตรง หรือโดยอ้อม (ชักจูงให้ซื้อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์) การโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ ให้ทำได้เฉพาะผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้จะมีโทษดังกล่าวแล้วผู้ฝ่าฝืนยังมีโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่าในการจัดงานครั้งนี้ ได้มีกิจกรรมบนเวที เช่น ละครเวที จัดแสดงโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรจน์ ซึ่งการแสดงดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงโทษ พิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งมีการแสดงดนตรี และจัดบูธประชาสัมพันธ์ รวมทั้งแจกของที่ระลึกเกี่ยวกับกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อเกิดความรู้ ความเข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง อันถือเป็นการสร้างกระแสสังคมในการปกป้องสิทธิไม่ให้ถูกละเมิดจากผู้อื่น และร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีการจัดงานรณรงค์สัญจรในส่วนภูมิภาคอีก 3 แห่ง ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นผู้ กระทำผิด สามารถแจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง หรือ ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทรศัพท์ 0-2590-3342