xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์นำโครงอาคารประกอบพระเมรุ สร้างไซต์มิวเซียมโบราณคดีหนองราชวัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระเมรุแสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และอาคารประกอบ ในยามค่ำคืน (เครดิตภาพจาก http://gotoknow.org/blog/fortune/219177)
กรมศิลปากร ขอพระบรมราชานุญาต นำโครงเหล็กสร้างอาคารประกอบพิธี ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ไปสร้างอาคารโบราณคดีบ้านหนองเปล้า จังหวัดสุพรรณบุรี

นายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการพระราชวัง ขอพระบรมราชานุญาต เรื่องที่จะนำโครงเหล็กสร้างอาคารประกอบพิธี ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง อาทิ โครงเหล็กพระที่นั่งทรงธรรม แผ่นอิฐ เป็นต้น นำไปสร้างอาคารโบราณคดีบ้านหนองเปล้า ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่เรียกแหล่งขุดค้นโบราณคดีหนองราชวัตร โดยสำนักราชเลขาฯ ได้แจ้งเบื้องต้นอนุญาตกรมศิลปากรนำไปจัดสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ท้องถิ่นได้

รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ขณะนี้โครงเหล็กอาคารประกอบพิธีใกล้จะรื้อถอนเสร็จ ได้แจ้งไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองราชวัตร รับทราบ จะทำการทยอยเคลื่อนย้ายโครงเหล็กจำนวนมากไปที่แหล่งโบราณคดีดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนทางกรมศิลปากรได้ให้สถาปนิกสำนักโบราณคดีออกแบบอาคารคล้ายไซต์มิวเซียม มีลักษณะโปร่งให้ถ่ายเทอากาศได้สะดวก และครอบคลุมพื้นที่หลุมขุดค้นโบราณวัตถุ โครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากที่มีอายุราว 3,500-4,000 ปี ยุคหินใหม่ หรือก่อนประวัติศาสตร์ บนพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ที่ทางสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ดำ เนินการอยู่ขณะนี้

ด้าน นายวิศิษฐ์ วัฒนชีวโนปกรณ์ นายก อบต.หนองราชวัตร กล่าวว่า เพิ่งรับทราบจากรองอธิบดีศิลปากร ว่า จะนำโครงเหล็กของอาคารประกอบพิธี มาจัดสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้นโบราณคดี สร้างความดีใจแก่ชาวหนองราชวัตร และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น จะช่วยกันรักษาสมบัตินี้ไว้ให้ดีที่สุด ขณะนี้มีเพียงเต็นท์ผ้าใบนำไปคลุมกางกันแดดกันฝนไว้เท่านั้น อย่างไรก็ดี จะได้นำเรื่องโครงเหล็กอาคารประกอบพิธีนี้แจ้งไปที่ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี เพื่อที่จะได้หาวิธีดำเนินการจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น