xs
xsm
sm
md
lg

อัดฟรีทีวีฉายภาพโหดซ้ำซาก เร้าเด็กเลียนแบบ-เตรียมร่อนหนังสือถึงทุกสำนักยุติแพร่ภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายครอบครัวฯ อัดฟรีทีวี รายงานภาพคลิปวงจรปิดความรุนแรงซ้ำซาก ทั้งยิงคน รุมกระทืบ น้ำมันราดแล้วเผา จิตแพทย์หวั่นเด็กเยาวชนซึมซับกระตุ้นพฤติกรรมเลียนแบบ ด้านสื่อเตรียมร่อนหนังสือขอความร่วมมือยุติการแพร่ภาพรุนแรง

วันนี้ (28 ม.ค.) นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า จากการที่เครือข่ายสมาชิก อาทิ เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ในช่วง 1-2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา พบว่า มีการกระทำที่ไม่เหมาะสม สื่อฟรีทีวีนำภาพเหตุการณ์อาชญากรรมที่รุนแรง มาฉายซ้ำไปซ้ำมา อาทิ ภาพคนจ่อยิงหัวคน ฝ่ายชายหึงแฟนสาวจนยิงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ก่อนจะยิงแฟนสาว การบุกยิงนักเรียนอาชีวะแห่งหนึ่งหลายนัด ริมถนนจนตายคาที่ ภาพกลุ่มวัยรุ่นนับสิบ รุมใช้ไม้ตี และกระทืบวัยรุ่นคนเดียวอย่างโหดร้าย ล่าสุด เหตุการณ์ผู้ชายเอาน้ำมันราดใส่ผู้หญิงแล้วจุดไฟเผา ผู้หญิงก็กรีดร้องด้วยความเจ็บปวด

“การนำภาพมาฉายซ้ำไปซ้ำมา ทุกครั้งที่มีการรายงานข่าว ทุกครั้งที่มีความคืบหน้าของคดี หรือแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะจบไปแล้ว ในรายการข่าว รายการเล่าข่าว ที่มีทุกช่วง ทุกช่อง ถี่ยิบ และยิ่งเป็นรายการเล่าข่าวเป็นช่วงที่เด็กๆ ยังนั่งดูทีวีอยู่ด้วย การให้เห็นวินาทีสังหาร คนฆ่าคนกันอย่างเปิดเผย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หนัง ภาพยนตร์ แต่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น มันเหมาะสมแล้วหรือ การให้เด็กและเยาวชนเห็นภาพเหล่านี้ตอกย้ำไปเรื่อยๆ จะทำให้พวกเขาซึมซับความรุนแรงและกระตุ้น ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้”นางอัญญาอร กล่าว

นางอัญญาอร กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทุกช่อง ยุติการนำเสนอภาพข่าวที่มีลักษณะดังกล่าว และขอให้จัดการแก้ไขปัญหานี้ใน 3 แนวทาง คือ 1.สถานีโทรทัศน์ทุกช่องยุติการเผยแพร่ภาพข่าว ความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมา ที่อาจจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบของเด็กและเยาวชนได้ 2.สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ควรตรวจสอบ และกำกับดูแล หรือพิจารณา ทบทวนกฎเกณฑ์ มาตรการดูแลกันเองให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 3.รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางในการรับเรื่องร้องเรียน คุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากการบริโภคสื่อ

“หากภายในสัปดาห์นี้ ยังมีคลิปภาพวงจรปิดของคดีที่มีความรุนแรงเหล่านี้อีก ทางเครือข่ายฯคงจะต้องเดินทางไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งเพื่อให้หยุดการแพร่ภาพรุนแรงเหล่านั้นทันที และจะไปถามว่า มีวัตถุประสงค์อะไรในการนำเสนอภาพเหล่านั้น มีประโยชน์อะไร เพราะจากการติดตามการนำเสนอข่าวพบว่ามีผลเสียมากกว่าอีก ทั้งนี้ ภาพที่เป็นการให้เบาะคนร้ายเพื่อช่วยกันตามหาผู้กระทำผิดก็คงพอรับได้ แต่ไม่ใช่เปิดให้เห็นภาพเหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ต้นจนจบเช่นนี้”นางอัญญาอร กล่าว

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม กล่าวว่า การชมคลิปภาพความรุนแรงจากกล้องวงจรปิดที่สื่อมวลชนมานำเผยแพร่ซ้ำๆ นั้น ย่อมทำให้เกิดพฤติกรรมความเลียนแบบอย่างแน่นอน เพราะภาพดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ซึ่งแรงกว่าภาพจากละคร การแสดงอื่นๆ ทุกครั้งที่นำเสนอย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ชมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในครั้งแรกอาจจะรู้สึกตกใจ แต่หากเห็นหลายครั้งจะกลายเป็นความชินชา

“ที่น่ากลัวที่สุด คือ ในบางรายที่มีพฤติกรรมที่เสี่ยงก่ออาชญากรรมอยู่แล้ว นำภาพเหล่านั้นมาเป็นข้อมูลในการก่ออาชญากรรมเลียนแบบ สังเกตจากปรากฏการณ์จะมาเป็นช่วงๆ เช่น ช่วงไหนมีการสาดน้ำกรด หรือตัดเจ้าโลก ก็จะมีการเลียนแบบต่อๆ กัน ดังนั้น จึงมีความเป็นห่วงการนำเสนอภาพเหล่านี้ของสื่อเป็นอย่างมาก และขอเตือนผู้ปกครองที่อาวุธอยู่ในบ้าน ให้ระวังให้ดีกลัวว่าเด็กจะนำมาเลียนแบบได้”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อยากให้สื่อมวลชนระมัดระวังในการนำเสนอภาพข่าวเหล่านี้ โดยคิดถึงใจเขาใจเรา ว่า ถ้าลูกตัวเอง หรือผู้สูงอายุนั่งดูภาพเหล่านี้ซ้ำๆ จะเป็นอย่างไร แม้ว่าคนทำข่าวจะชินชากับเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะพบเห็นบ่อย แต่แท้จริงแล้วคนอีก 80-90%พบเห็นภาพเหล่านี้ไม่บ่อยนัก และมีผลกระทบต่อจิตใจพวกเขาเป็นอย่างมาก

ขณะที่ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สมาคมทราบถึงปัญหาเช่นกัน ซึ่งจะนำไปหารือในสมาคมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เบื้องต้นจะทำหนังสือขอความร่วมมือในการนำเสนอภาพข่าวไปยังกองบรรณาธิการของสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่ง ส่วนในระยะยาวขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างการร่างระเบียบจริยธรรมในเรื่องดังกล่าวอยู่

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 13.45 น.นางอัญญาอร พร้อมด้วยเครือข่ายครอบครัวฯประมาณ 20 คน ได้ไปยื่นหนังสือขอให้ยุติการแพร่ภาพความรุนแรงจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดกับ นายก่อเขต เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จากนั้นเดินทางไปยังสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ถ.วชิระ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น