xs
xsm
sm
md
lg

ภาษาไทยเปลี๊ยนไป๋ ในเว็บบอร์ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าถามพวกวัยรุ่น วัยทีนในยุคสังคมการเมืองปั่นป่วนแบบนี้ว่า “ใครไม่เคยเล่น อินเทอร์เน็ตบ้าง” คงไม่มีใครตอบว่าไม่เคยเล่น แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเมืองไหมเนี่ย ?? ตอบได้เหมือนกันว่าไม่เกี่ยวแต่หาเรื่องมาเอี่ยวเท่านั้นเอง ในยุคสมัยอินเทอร์เน็ตครองเมือง จะอยู่ที่ไหนก็มีแต่อินเทอร์เน็ต จะวัยไหน รุ่นไหน ก็นิยมหันมาเล่นเน็ตกันหมดแล้ว

เมื่อมีอินเทอร์เน็ตก็เริ่มมีวิวัฒนาการของโปรแกรมใหม่ๆ เข้ามาเสริม เพื่อตอบรับความต้องการของผู้ใช้ที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น อย่างเกมออนไลน์ โปรแกรมการสนทนา MSN และเว็บบอร์ด ที่ตอนนี้กำลังฮิตติดลมบนอยู่ทั่วทุกแห่งหนของเมืองไทย อุปกรณ์เสริมต่างๆ เหล่านี้ที่ยกมาก็เพราะว่าผู้ที่ใช้นั้นจะมีการตอบโต้กันในรูปแบบของการสนทนาผ่านเว็บบอร์ดที่เกิดขึ้นในเว็บไซต์ต่างๆ โดยการพิมพ์สื่อสารกัน จึงเป็นที่มาของภาษาไทยในเว็บบอร์ดที่แปลกใหม่ และกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย ?

“ปกรณ์ สันติสุนทรกุล” หรือ พี่ปอนด์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารบริษัท เด็กดี อินเตอร์แอกทีฟ จำกัด ผู้ผลิตเว็บไซต์ DEK-D.COM เล่าถึงวิวัฒนาการของภาษาไทยในเว็บบอร์ด ว่า เว็บบอร์ดเป็นเทคโนโลยีที่คนไทยได้สัมผัสมานานแล้วประมาณ 10 ปี เกือบทุกเว็บไซต์ในปัจจุบันมีเว็บบอร์ดเป็นของตนเอง การเกิดของพัฒนาการของภาษาที่ใช้กันในเว็บบอร์ดจึงมีหลากหลายรูปแบบ

“ส่วนใหญ่มาจากความตั้งใจที่จะพิมพ์ผิด เพื่อสื่อให้เห็นถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้พิมพ์ อย่าง ถ้าพิมพ์ว่า “ไม่รู้นะ เค้าไม่ทราบจริงๆ” แบบนี้จะรู้สึกว่าผู้พูดเป็นคนทางการ จริงจัง ไม่ใช่คนสนุกขี้เล่น ขณะที่เด็กวัยรุ่นปัจจุบันมักจะพิมพ์ว่า “ม่ายรู้นะ เค้าม่ายทราบจิงๆ” เราสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่แตกต่างกัน ภาษาที่น้องคนนี้ใช้มันน่าเอ็นดูมากกว่าคนแรก” พี่ปอนด์ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป

ในปัจจุบันวัยรุ่นจำนวนมาก ใช้เวลาอยู่กับการแชตกับเพื่อนในอินเทอร์เน็ต หรือการโพสต์ข้อความวิบัติในเว็บบอร์ดบ่อยครั้งมากกว่า การได้อ่านหนังสือ ตำรา ที่ใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ทำให้วัยรุ่นจำนวนมากซึมซับสิ่งที่ไม่ถูกต้องไปตลอดเวลา จนอาจจะเกิดอาการลืมนึกถึงไปว่าคำอย่างเช่น “ก้อ” “จิง” จริงๆ แล้วเป็นภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง

ด้านวิวัฒนาการของภาษาในเว็บบอร์ดตอนนี้ พี่ปอนด์ให้ความเห็นว่า เว็บบอร์ดสำหรับผู้ใหญ่อย่าง pantip.com ยังมีการใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักภาษาไทยกันแต่ในเว็บบอร์ดสำหรับวัยรุ่นอย่าง Dek-D.com หรือเว็บพูดคุยกับเพื่อนอย่าง hi5.com จะเห็นว่า มีการใช้ภาษาที่สะกดแปลกๆ เพื่อเน้นการสื่ออารมณ์อยู่มาก

“บางทีพวกผู้ใหญ่มาเห็น ก็มักจะเกิดความรู้สึกว่ารับไม่ได้ แต่ถ้าเด็กวัยรุ่นด้วยกันจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ไม่ได้มีอยู่แค่ในเว็บบอร์ดนะครับ ในอีเมลที่ส่งระหว่างเพื่อนเอง หรือการแชตผ่านโปรแกรม Instant Messenger ต่างๆ ก็เป็นไปในทางเดียวกัน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงนะครับ” พี่ปอนด์กล่าวฝาก

ผู้ใหญ่เองก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา คำหลายคำถูกบิดเบือน เพี้ยนไปเพราะการใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เช่น คำว่า "Shopping" ซึ่งในอินเทอร์เน็ตก็แปลกันเป็นภาษาไทยไม่เหมือนกันสักเว็บไม่ว่าจะเป็น ช้อปปิ้ง ช๊อปปิ้ง ชอปปิ้ง ช็อปปิ้ง หรือ คอลัมน์ คอลัมภ์ หากเราลองเอาคำเหล่านี้ไปค้นหาผ่าน Google ดูเราจะพบว่าคำที่สะกดผิด กลับกลายเป็นคำที่มีผลการค้นหามากที่สุด หรือหมายถึงมีคนใช้อยู่มากที่สุด ผู้ใหญ่เองยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าแบบไหนสะกดถูก ถ้าต่างคนต่างไม่ทราบและใช้ตามๆ กัน ก็มีโอกาสทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “พวกมากลากไป” ทำให้สุดท้ายภาษาไทยบน อินเทอร์เน็ตมีโอกาสเพี้ยนไปอย่างรวดเร็วมาก

“การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นสิ่งที่เกิดได้หากผู้ที่ใช้ภาษาวิบัติต่างๆ รู้ว่าการที่ตนตั้งใจพิมพ์ภาษาแบบนี้ เพื่อมีจุดประสงค์ว่าต้องการสื่อความรู้สึกและหากรู้ว่า ต้องทำรายงานส่งครู หรือเขียนจดหมายทางการถึงผู้ใหญ่ และสามารถเลือกใช้ภาษาที่ถูกต้องได้ ก็คงจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้” พี่ปอนด์ กล่าวทิ้งท้าย

ในส่วนของ ผศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ ผู้อำนวยการนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงภาษาที่เกิดขึ้นในเว็บบอร์ด ว่า ภาษาที่ใช้สื่อสารกันภายในเว็บบอร์ดนั้นเป็นคำพูดที่แสดงออกทางด้านอารมณ์ และความรู้สึกของผู้ใช้ ส่วนใหญ่ในเว็บไซต์ที่ผู้ใช้เลือกเข้าไปนั้นก็จะมีสังคมของเขาอยู่ การพูดคุยก็จะเป็นไปในทางเดียวกัน มีการใส่สัญลักษณ์เพื่อแสดงความรู้สึก มันแสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ของผู้ใช้

“ภาษาในเว็บบอร์ดเป็นภาษาเพื่อการสื่อสาร เพื่อการสนทนาไม่ใช่เพื่อการเขียน เพราะภาษาก็มีทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา ภาษามันดิ้นได้มันก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง วิวัฒนาการของภาษามันก็เป็นไปตามเทคโนโลยีที่เติบโตเรื่อยๆ ดังนั้น การที่คนที่ใช้จะแสดงความรู้สึกที่ออกมาเป็นภาษาที่ผิดก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะภาษาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงภาษาที่ใช้ในการสนทนาและแสดงออกถึงอารมณ์เท่านั้น”ผศ.ดร.กุลทิพย์ กล่าวแสดงความคิดเห็น

ทางด้านกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบการเล่นแชต สนทนาผ่านเว็บบอร์ด ก็มีความเห็นที่หลากหลายแตกต่างกันไปแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน บ้างว่ามันเป็นภาษาที่ผิด บ้างก็ว่าเป็นภาษาที่น่ารักสื่อสารอารมณ์ของผู้ส่งได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีบางกลุ่มที่คิดว่าภาษาที่ใช้กันอยู่ในเว็บบอร์ดนั้นเป็นเรื่องที่น่ารำคาญสำหรับคนอ่าน

“ภาษาในเว็บบอร์ดเป็นเหมือนอีกภาษานึงที่เราใช้ในการสื่อสารกับบุคคลอื่น แต่ที่ต้องใช้คำที่มันสั้นหรือสะกดผิดก็เป็นเพราะว่า มันสื่อถึงอารมณ์ที่เราอยากจะบอก โดยไม่ต้องใช้คำพูด” เสียงบอกเล่าของ นริศ เด็กสาววัยรุ่นซึ่งเป็นอีกคนที่ใช้ภาษาเว็บบอร์ดสื่อสารกับเพื่อน

“ถ้าใช้เขียนในประโยคที่มันสั้นๆ น่ารักๆ มันก็น่าอ่านดีนะ แต่เวลาเขียนเป็นประโยคที่ยาวแล้วสะกดเป็นภาษาเว็บบอร์ดทุกคำเลยมันก็น่ารำคาญนะ ขี้เกียจอ่านด้วย เพราะอ่านแล้วต้องมานั่งแปลความหมายใหม่อีก มันก็น่าเบื่อ” แอน นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง ให้ความเห็น

เช่นเดียวกับ นะมล ที่ให้ความเห็นว่า หากผู้เล่นยังใช้ภาษาที่สะกดผิดมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ติดเป็นนิสัยไปเลยก็เป็นได้

“เราว่าบางทีการใช้ภาษาที่มันผิดๆ มากเกินไปมันก็อาจทำให้ติดเป็นนิสัยได้ อย่างเราใช้เขียนอะไรที่มันเป็นทางการก็อาจทำให้เขียนผิด ติดภาษาเว็บบอร์ดมาในงานด้วยก็เป็นได้ ทางที่ดีคนที่ใช้ก็ควรมีวิจารณญาณในการใช้ รู้กาลเทศะว่าจะใช้เมื่อไหร่ ใช้ยังไงให้ถูกที่ถูกเวลา” นะมล เอ่ยฝากถึงผู้ใช้เว็บบอร์ด
กำลังโหลดความคิดเห็น