กระทรวงสาธารณสุขร่วมกิจกรรมวันเด็กโดบมอบหนังสือ “พระมหาชนกฉบับการ์ตูน” เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต ให้เด็กที่คลอดในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2552 เพื่อให้เป็นสื่อสร้างความผูกพันพ่อ-แม่-ลูก ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเด็กไทย ซึมซับเรื่องความเพียร ขยัน อดทนตั้งแต่วัยเด็ก
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะ เปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ปี 2552 ที่อาคารเอนกประสงค์ โรงเรียนหัวไทร อ.หัวไทร และเดินทางไปโรงพยาบาลหัวไทร โรงพยาบาลปากพนัง และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อมอบหนังสือ “พระมหาชนกฉบับการ์ตูน” ให้แก่เด็กที่เกิดในวันนี้ ให้เป็นหนังสือเล่มแรก หรือบุ๊ค สตาร์ท (Book Start) โดยวันนี้ที่โรงพยาบาลหัวไทร มีเด็กเกิด 3 คน โรงพยาบาลปากพนัง มีเด็กเกิด 3 คน และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช มีเด็กเกิด 12 คน
นายวิทยา กล่าวว่าในปีนี้ สธ. มีนโยบายมอบหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ฉบับการ์ตูน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เด็กที่เกิดในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2552 ทุกราย ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 2,100-2,500 คนทั่วประเทศ ตั้งใจที่จะมอบให้เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตเด็ก เพราะนอกจากจะช่วยเป็นสื่อให้พ่อแม่ลูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และมีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้นแล้ว หนังสือดังกล่าว เป็นสิ่งมีคุณค่า สอนให้เด็กไทยสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และซึมซับเรื่องของความเพียร ขยัน อดทนตั้งแต่เด็กด้วย
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ.กล่าวว่า การเลี้ยงดูลูกมีส่วนสำคัญมากในการสร้างไอคิว-อีคิวให้เด็กถึงร้อยละ 70 สธ. สนับสนุนให้พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ จนกระทั่งหลังคลอด โดยเฉพาะช่วง 6 ขวบแรก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการวางรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสร้างไอคิว-อีคิว ซึ่งมีความสำคัญในการดำรงชีวิตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จากการสำรวจครอบครัวไทยล่าสุดในปี 2549 พบพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังเพียง 1-5 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น
ผลดีของการเล่านิทาน นอกจากจะสร้างความผูกพัน ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เล่ากับเด็กแล้ว ยังสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่นให้เด็ก ทำให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นขณะฟังนิทาน ทำให้เด็กมีสมาธิ เด็กจะฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบของไอคิวหรือความฉลาดทางปัญญา โดยนิทานเป็นการขยายเรื่องที่เป็นนามธรรม ให้เป็นเรื่องง่ายๆที่จะพูดคุยหรือสื่อให้คนอื่นเข้าใจ สร้างความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวให้เด็กอยู่ในสังคมได้ การเล่านิทานยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านหนังสือ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการได้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ที่สำคัญคือทักษะด้านภาษา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และจินตนาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทย