ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ระบุ ปี 2551 พบเด็กหนีออกจากบ้านอายุต่ำสุด 10 ปี และสถิติเด็กที่หนีออกจากบ้านโดยสาเหตุสมัครใจเพิ่มมากเป็นอันดับ 2 รองจากถูกล่อลวง พร้อมคาดการณ์ว่าในปี 2552 นี้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว
วันนี้ (8 ม.ค.) ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ได้จัดแถลงข่าว “อย่าผลักไสหนูให้ออกจากบ้าน” ขึ้น โดย น.ส.ธิติมา หมีปาน หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย กล่าวถึงปัญหาคนหายที่ผ่านมาพบว่า เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาเด็กหาย
น.ส.ธิติมา กล่าวว่า ในปี 2550 มีผู้มาแจ้งว่าคนหาย 214 คน ทางมูลนิธิตามพบ 167 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็ก 27 คน ต่อมาในปี 2551 มีผู้มาแจ้งคนหาย 330 คน ตามพบ 186 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็ก 75 คน โดยจำนวนเด็กหายในปี 51-52 นั้น เพิ่มขึ้นราว 10%
“จำนวนคนหายมีมากกว่านี้แน่นอน แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่มีผู้มาแจ้งหายที่มูลนิธิ จะสังเกตว่าในปี 2551 มีผู้มาแจ้งเพิ่มขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นเพราะมีผู้รู้จักศูนย์มากขึ้นนั่นเอง และนอกจากนี้ เราก็ได้สอบถามถึงสาเหตุของการออกจากบ้าน ที่น่าสนใจและน่าตกใจก็คือ แต่เดิมเราจะมองประเด็นการหายไปจากบ้านของเด็กว่า หายไปเพราะถูกล่อลวง แต่สถิติล่าสุดเราพบว่า การหายตัวไปจากบ้านโดยสมัครใจ เป็นอันดับสองของสาเหตุการหนีออกจากบ้านของเด็กและเยาวชน รองจากการถูกล่อลวง ซึ่งเราคาดการณ์ว่าการหนีออกจากบ้านโดยสมัครใจจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 52 แน่นอน”
หัวหน้าศูนย์คนหายกล่าวต่อไปอีกว่า ที่อายุของเด็กที่หนีออกจากบ้านที่น้อยที่สุดที่พบคือเด็กชายอายุ 10 ปี และเด็กหญิงอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจอย่างยิ่ง
“เส้นทางของเด็กที่หนีออกจากบ้าน หากเป็นเด็กชายก็จะเข้าสูงวงจรของการเป็นอาชญากรรมเด็ก โดยเริ่มตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อย ไปจนถึงขั้นก่ออาชญากรรมร้ายแรงอย่างฆ่าคนตาย หรืออีกแบบก็คือเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ ถูกล่อลวงไปค้าแรงงาน หรือล่อลวงไปสู่กระบวนการเพศพาณิชย์ ในเด็กหญิงก็อาจถูกล่อลวงไปค้าบริการทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์”
น.ส.ธิติมา กล่าวอีกว่า จากการที่สอบถามเด็กชายอายุ 10 ปีที่หนีออกจากบ้าน พบว่ามีสาเหตุมาจากการน้อยใจมารดาที่ดุว่าสังสอน ส่วนเด็กหญิงอายุ 12 ปีนั้น หนีออกจากบ้านเพราะบิดาดุว่าเรื่องการใช้โทรศัพท์
“ขณะนี้ปัญหาการหนีออกจากบ้านโดยสมัครใจของเด็กเป็นที่น่ากังวลยิ่ง เราลองใช้คีย์เวิร์ด คำว่า “หนีออกจากบ้าน” ค้นหาในอินเทอร์เนต ก็พบว่ามีการโพสต์เรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งในเวบบอร์ดที่เด็กและวัยรุ่นนิยมเล่นกันอย่างเว็บเด็กดีดอทคอมด้วย”
หัวหน้าศูนย์ข้อมูล กล่าวด้วยว่า ครอบครัวต้องเอาใจใส่และให้เวลาบุตรหลานให้มาก ต้องพยายามหากิจกรรมที่ทำด้วยกันได้ในครอบครัว เพื่อลดช่องว่างและให้เด็กรู้สึกไม่เคว้งคว้าง