xs
xsm
sm
md
lg

"หมอบรรลุ"แนะรัฐตั้งกองทุนชราภาพช่วยผู้สูงอายุ ค้านขยาย "บ้านบางแค"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นพ.บรรลุ” เผยประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต นโยบายจ่ายเบี้ยยังชีพ 500 บาท/คน/เดือน อาจเป็นภาระ แนะรัฐทบทวนเร่งดำเนินนโยบายเพิ่มรายได้และการออม ด้วยการตั้งกองทุนชราภาพช่วยผู้สูงอายุ ค้านสร้างขยายบ้านบางแคเพราะเป็นการทำลายวัฒนธรรมส่งเสริมผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง


มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดเสวนาเรื่อง “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท ยุทธวิธีที่อาจล้มละลาย” มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิฯ และ รศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา

นพ.บรรลุ กล่าวว่าการที่รัฐจะเพิ่มงบประมาณเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ หากคิดถึงเหตุผลและภาพรวมทั้งหมด อยากให้ทบทวนแนวคิดใหม่ โดยหลักการเบี้ยยังชีพจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ยากจนเท่านั้น ซึ่งตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีเพียง 1.27 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลง แต่ปัจจุบันรัฐจ่ายเบี้ยยังชีพกว่า 1.7 ล้านคน หากดูโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุในอนาคต ผู้สูงอายุที่ฐานะยากจนลดลง แต่ผู้สูงอายุรวมจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในประมาณ 10 ปีข้างหน้า รัฐจะหางบประมาณที่ไหนมาจ่ายซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคตแนนอน ดังนั้น ควบทบทวนและเร่งดำเนินนโยบายเพิ่มรายได้และการออม ด้วยการตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ หรือกองทุนชราภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ หากรัฐต้องการจ่ายเงินภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเรื่องผู้สูงอายุ มีวิธีที่เหมาะสมมากกว่าการเพิ่มเบี้ยยังชีพอย่างเดียว เช่น การจ่ายเงินอุดหนุนของชมรมผู้สุงอายุทั่วประเทศที่มีอยู่ 14,000 ชมรม อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเบี้ยยังชีพที่เหมาะสมควรเป็น 700 บาท/คน/เดือน เพราะ 500 บาท เดิมคิดจากค่าอาหาร/เดือนเท่านั้นไม่ได้คิดถึงค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สำหรับความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนชราภาพ ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการเร่งรัดกองทุนบำนาญแห่งชาติแล้ว มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และตนเป็นรองประธาน แต่ยังไม่มีการประชุมใดๆ ดังนั้น ภายในปี 2552 รัฐควรต้องคลอดกองทุนดังกล่าวออกมาเพื่อให้ทันโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

นพ.บรรลุ ยังกล่าวไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขยายสร้างบ้านบางแคของรัฐบาลที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะในอดีตเมื่อยังไม่มีบ้านบางแค ผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัวและเป็นวัฒนธรรมที่ลูกหลานต้องดูแลครอบครัว แต่เมื่อมีบ้านบางแคทำให้วัฒนธรรมถูกทำลายและผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง การอยู่บ้านบางแคไม่ได้มีความสุขเท่ากับการได้อยู่กับลูกหลาน

ด้าน รศ.ศศิพัฒน์ กล่าวว่า ในอนาคตรัฐควรส่งเสริมอาชีพคนดูแลผู้สูงอายุ และอุดหนุนให้เกิดการจ้างงานเพื่อให้คนดูแลผู้สูงอายุเข้าไปดูแลผู้สูงอายุในชุมชนด้วย

ขณะที่ ผศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า กองทุนชราภาพหรือระบบบำนาญแห่งชาติมีลักษณะเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยส่งเสริมให้มีการออมตั้งแต่วัยทำงาน และให้บำนาญเมื่ออายุครบ 60 ปี ซึ่งกองทุนนี้จะดูแลผู้สูงอายุที่อยู่นอกเหนือกองทุนชนิดอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น