xs
xsm
sm
md
lg

ติง “จุรินทร์-รมช.” ไร้ผลงานการศึกษา แต่เชื่อทำงานได้ ชงทบทวนนโยบายประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนวงการศึกษาเข้าใจ “มาร์ค” ไม่ควบเก้าอี้ รมว.ศธ. เพราะปัญหาบ้านเมืองมากมาย ให้โอกาส “จุรินทร์” เชื่อ น่าจะทำงานได้ เพราะนโยบาย ปชป.เรื่องการศึกษาค่อนข้างชัดเจน แม้ภาพ รมว.-รมช.ศธ.ไม่ดีเท่าไหร่ แนะทบทวนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเก่า ว่าควรทำต่อหรือยกเลิก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ว่าที่ รมว.ศธ. คนใหม่
นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงข่าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ว่า เท่าที่เคยรับฟังการอภิปรายในโอกาสต่างๆ จาก นายจุรินทร์ ถือว่าเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล มีจุดเน้นที่ชัดเจน และสามารถสื่อสารให้ประชาคมครู และนักการศึกษาได้เข้าใจเจตนารมณ์ และจุดมุ่งหมายได้อย่างดี ซึ่งส่วนตัวมองว่าจะเป็นจุดดีที่จะทำให้การพัฒนาการศึกษามีอานุภาพในเชิงความคิด เพราะถ้าทิศทางไม่ชัดเจนก็จะเกิดการตีความที่ไม่สอดคล้องกันได้
 สำหรับประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาของ นายจุรินทร์ นั้น ไม่น่ามีปัญหา เพราะผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองโดยเฉพาะในพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าใจระบบการศึกษาดีเพียงพออยู่แล้ว จึงเชื่อว่า เมื่อมาจับงานนี้จะสามารถจับประเด็นหลักสำคัญต่างๆ และขับเคลื่อนได้ทันที แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่ที่การสื่อสาร และการรวมพลังของข้าราชการประจำให้เป็นหนึ่งด้วย ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าการศึกษาจะก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสนใจและความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด จึงเชื่อว่า งานทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาจะได้รับการสานต่อ ซึ่งที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็เป็นส่วนสำคัญในการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ด้วย ดังนั้น จึงไม่น่ามีปัญหาอะไรอยู่แค่เพียงว่าจะเร่งในเรื่องใดก่อนเป็นการเฉพาะ แต่เท่าที่ทราบจะเน้นเรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี การพัฒนาครู และเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร” นายชินภัทร กล่าวและว่า ตนจะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่เร่งดำเนินการเรื่องการจัดการศึกษาฯ 12 ปี ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผู้ปกครองยังไม่ทราบว่าการศึกษา 12 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้นครอบคลุมในเรื่องใดบ้าง นอกจากนี้ อยากให้เน้นความเท่าเทียมและเป็นธรรม เพราะการจัดสรรอัตราเงินอุดหนุนที่เท่ากัน ไม่ได้หมายความว่า เป็นธรรม แต่การเท่าเทียมและเป็นธรรมควรพิจารณาถึงความขาดแคลน ซึ่งกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน จะเสนอเรื่อง 1 ทุน 1 อำเภอให้ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ตัดสินใจว่าจะเดินต่อข้างหน้าอย่างไรด้วย

ด้าน นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการที่ นายอภิสิทธิ์ ไม่อาจควบตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการอย่างที่ประกาศไว้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และคิดว่าตัดสินใจได้ถูกต้องแล้วในสถานการณ์ช่วงนี้ที่บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ การแตกสามัคคีของประชาชน ที่เร่งด่วนกว่า นายกฯ ก็คงต้องทุ่มเททางนั้น
 
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ดูแลนโยบายพรรค ปชป.และครั้งที่ นายอภิสิทธิ์ มาขอข้อมูลจากสมศ.นายจุรินทร์ ก็มาด้วย จึงคิดว่า นายจุรินทร์ รู้เรื่องการศึกษา ที่สำคัญ พรรค ปชป.มีทิศทางและนโยบายการศึกษาที่เด่นชัด และเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการจัดการศึกษาฟรี พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก พัฒนาครู เป็นต้น ทั้งยังมี รมช.ศึกษาธิการ และพรรค ปชป.เองก็มีทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง ดังนั้น งานการศึกษาก็น่าจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี แม้นายกฯ จะไม่ลงมาควบเอง แต่ก็คงเป็นแบ็กอัพช่วยอยู่ในคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญ นายจุรินทร์ มีประสบการณ์ทางการเมือง ก็น่าจะใช้ประสบการณ์นั้นมาทำหน้าที่ในสภาให้ข้อมูล ชี้แจงและตอบคำถามได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น คิดว่า นายจุรินทร์ มีภาพลักษณ์ที่ใช้ได้และคนในแวดวงการศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาก็น่าจะยอมรับได้

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ถ้ามองเฉพาะตัวบุคคล คิดว่า การจัดวางบุคคลมาเป็น รมว.ศึกษาธิการ และ รมช.ศึกษาธิการ ครั้งนี้ ภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะทั้งคู่ไม่เคยมีผลงานทางการศึกษา หรือแม้แต่การแสดงความเห็นเรื่องการศึกษา แต่ถ้ามองภาพรวมถึงตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ซึ่งเป็นคนที่ให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับการศึกษามาก โดยวันแถลงรับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังคงประกาศที่จะให้ความสำคัญกับการลงทุนการศึกษา เน้นเรื่องการศึกษาฟรี 14 ปีอย่างมีคุณภาพ ใช้งบ 25,000 ล้านบาท ตนก็คิดว่ายังคงให้ความหวังกับรัฐบาลชุดนี้ได้สูงถึง 7-8 คะแนน

ดังนั้น รัฐมนตรีทั้ง 2 คงต้องยอมรับจุดอ่อนตรงนั้น แล้วแต่งตั้งทีมที่ปรึกษา 7-8 คนมาช่วยขับเคลื่อนงาน มีการกำหนดกรอบนโยบายที่ชัดเจนว่าภายใน 99 วันต้องทำอะไรบ้าง เร่งทำการตกผลึกประเด็นปัญหาการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปการศึกษารอบใหม่แล้วตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งนายจุรินทร์ มีจุดแข็งตรงที่มีต้นทุนทางการเมืองสูงก็อาจจะปรับตัว เรียนรู้และตัดสินใจทางการเมืองได้เร็ว ทั้งอยู่ในทีมดูแลนโยบายพรรคปชป.และนโยบายรัฐบาล ก็น่าจะเห็นภาพรวมได้ แม้จะมีจุดอ่อนตรงที่รู้ภาพรวมของการศึกษาน้อยไปก็ตาม

ขณะที่ปัญหาการศึกษาเปรียบเหมือนระเบิดที่ไม่รอเวลาให้นายจุรินทร์ได้เรียนรู้นานนัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาบัณทิตที่จะตกงาน การจัดการศึกษาฟรีอย่างมีคุณภาพ ปัญหาเด็กปฏิเสธระบบโรงเรียน ปัญหาสังคม วัฒนธรรม ยาเสพติด เกม สื่อลามก ล้วนแล้วแต่เป็นวิกฤตรุนแรงเสียยิ่งกว่าปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรอ นายจุรินทร์ แก้ไข

“นายจุรินทร์ อาจต้องมาทบทวนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดแล้ว ทั้งเรื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาสำหรับเด็กประถมฯ หรือ One Laptop per Child โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) คงต้องพิจารณาว่าโครงการไหนควรทำต่อหรือยกเลิก ซึ่งถ้ามีประโยชน์กับเด็กและอุดจุดอ่อนของปัญหาได้ ผมก็สนับสนุนให้สานต่อ แต่ในเรื่องโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.นั้น เห็นว่า ควรให้ระยะเวลาทำงาน ถ้า 90 วันแล้วยังไม่สนองผลงาน จนเห็นผลงานก็ควรต้องโยกย้าย ที่สำคัญอยากให้รัฐมนตรีฯ ทบทวนเรื่องการปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ผ่านมาว่าล้มเหลวจากสาเหตุอะไร เพื่อจะไม่ผิดพลาดอีกซึ่งเป็นโอกาสีสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)เพราะเป็นผู้เริ่มต้นเรื่องนี้ มารอบ 2 นี้ก็มาเกิดขึ้นตอนที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ อีก ก็จะเป็นผลงานที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามอยากจะเสนอให้ปฏิรูปอีก 3 เรื่องควบคู่กันไปคือ ปฏิรูประบบทรัพยากรและงบประมาณ ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และระบบหลักสูตรการเรียนการสอน และปฏิรูปคณะกรรมการที่เคยทำเรื่องปฏิรูปการศึกษาโดยนำคนใหม่มาทำ” นายสมพงษ์ กล่าว

นายวีรวัฒน์ วรรณศิริ นายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และอุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้ควบตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ แต่ก็คิดว่ายังคงดูแลและติดตามงานการศึกษาตลอดจนเรื่องปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เพียงแต่ใช้อำนาจผ่านทางรมว.ศึกษาธิการ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็คิดว่าการศึกษาคงจะเดินหน้าและไม่เบี่ยงเบนไปจากนโยบายพรรค ปชป.เท่าไรนัก
 
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ควรต้องตั้งทีมที่ปรึกษาที่เรียกว่าเทคโนแครตสัก 6 คนเพื่อมาดูแลและติดงาน 5 องค์กรหลักและ 1 ปัญหาชายแดนภาคใต้ ขอให้เทคโนแครตเหล่านั้น มาจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ทางการศึกษาอย่างแท้จริง เสียสละและจริงใจ ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูก หากเป็นเช่นนี้การศึกษาก็จะเดินหน้าไปได้ โดยที่ นายอภิสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องลงมาควบตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการเอง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยอมรับ นายจุรินทร์ ได้ เพราะเป็นนักการเมืองคุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น