xs
xsm
sm
md
lg

“ดอกไม้เหล็ก” แห่งบ้านปรานี...คนดีที่โลกรอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ถึงตากับยาย...หนูขอโทษในทุกสิ่งที่ทำไม่ดี ต่อจากนี้ไป หนูจะปรับปรุงตัวใหม่ และจะเป็นคนดีของสังคม หนูสัญญาค่ะ รักและเคารพ”
 
“ถึงแม่ของหนู...จากนี้ไปหนูจะขอเริ่มต้นชีวิตใหม่ จะเลิกเกเร และจะเป็นคนดีของสังคมค่ะ”



นี่คือ ข้อความจากไปรษณีย์ โครงการ “ทำดีเพื่อพ่อ ขอคนไทยให้รักกัน” ของเด็ก และเยาวชนหญิงบ้านปรานี จากกิจกรรมให้อภัย ให้โอกาสแก่เยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการทะเลาะวิวาท จำนวน 60 คน จัดโดยบ้านปรานี ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างพลังแห่งการให้เกิดจิตสำนึกที่ดีในการทำดี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สถานแรกรับเด็ก และเยาวชนหญิง (บ้านปรานี) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา

น้องหวานเย็น (นามสมมติ) ผู้เคยก้าวพลาดไปกับยาเสพติด เล่าให้ฟังว่า ก่อนถูกส่งตัว เธอกำลังเรียนอยู่ ปวช.ปี 2 วิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เธอเป็นวัยรุ่น ริลองรักในวัยเรียนจนขาดสติ และหลงผิด คบแฟนที่พัวพันกับยาเสพติด จนเธอต้องติดร่างแหแห่งวงจรยานรกตามไปด้วย
 
แต่หลังจากมาอยู่ที่บ้านปรานี ทำให้เธอได้คิด และเรียนรู้อะไรหลายอย่างว่า ก่อนทำ ต้องคิดและไตร่ตรองให้ดี เพราะผลที่ตามมามันพลิกชีวิต และอนาคตทั้งหมดได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“อยู่ที่บ้านปรานีมา 3 เดือนแล้ว ไม่ได้โทษใคร แต่โทษตัวเองที่ในอดีตเคยขาดสติ หลงระเริงในความรัก จนติดร่างแหของยาบ้า จากวันนั้น หนูมีบทเรียนที่ไม่เคยลืม เป็นบทเรียนที่มีค่า บ้านปรานีทำให้หนูมีสติ รู้จักเบื้องลึกของความจริงบางอย่าง ว่า ก่อนทำการใด ต้องคิด คิด และก็คิดให้ดีเสียก่อน เพราะเมื่อพลาด มันไม่อาจหยุด และหมุนเวลากลับไปแก้ไขได้ ที่สำคัญ มันทำให้ความรู้สึกของคนที่เรารัก และรักเราต้องทนทุกข์ และเจ็บปวดแบบไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้อีกด้วย” น้องหวานเย็น เล่า

สอดรับกับ น้องไอติม (นามสมมติ) เล่าว่า สมัยเรียน เธอทำหน้าที่ของศิษย์ที่ดี และลูกที่ดี แต่ด้วยการไม่ยั้งคิด และขาดสติ เป็นเหตุให้เกิดการตบตีกับแม่ค้าที่ตลาด เหตุเพราะต้องการทวงดอกเบี้ยให้แฟนผู้เป็นเจ้าของเงิน จนถูกจับในข้อหาทะเลาะวิวาท สำหรับการกระทำในครั้งนั้น ทำให้รู้ว่าการขาดสติ และการกระทำบางสิ่งโดยไม่ทันระวัง มันไม่สามารถเรียกร้องอะไรกลับคืนมาได้ โดยเฉพาะอนาคตที่พ่อแม่ทุ่มเท และคาดหวังกับลูกรักคนหนึ่ง

“จากใจวัยรุ่นเลยนะพี่ อยากจะเตือนสติให้เพื่อนที่คิดจะทำผิด ขอให้มีสติ อย่าตามเพื่อน เหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่า เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายโคตรหายากเลยพี่ ไม่มีใครรัก และเข้าใจเราเท่ากับพ่อแม่หรอก แต่ก็อีกอ่ะ พูดไป บางคนมันก็ไม่เชื่อ อาจจะโดนย้อนกลับอีกว่า แล้วไงอ่ะ มาบอกกูทำไม กูคงไม่โง่ให้โดนจับเหมือนพวกมึงหรอก เอาเป็นว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา อย่ามาคิดได้ ตอนเข้ามาอยู่ในสถานพินิจก็แล้วกัน ถึงตอนนั้นมันคงสายไปแล้ว” น้องไอติม กล่าวเตือนสติผู้ที่กำลังจะก้าวพลาดอย่างเธอ

หลังถูกปล่อยตัวออกจากสถานแรกรับ ณ บ้านปรานี น้องหวานเย็น และไอติม ได้วางแผนอนาคตไว้ว่า จะกลับไปทำหน้าที่ของลูกที่ดี และลูกศิษย์ที่ดีของพ่อแม่ ครูอาจารย์ รวมทั้งกลับไปเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เพื่อทำประโยชน์ ลบล้างความผิดที่เคยก่อ ร่วมสร้างความดีให้ตัวเอง และคนอื่นต่อไป อยากให้สังคมเข้าใจ และรอพวกเธอ เพราะถึงแม้จะเคยผิดพลาด แต่ก็ให้คำมั่นว่า จะไม่ทำผิดซ้ำสองแน่นอน

“โครงการทำดีเพื่อพ่อ เป็นกิจกรรมที่ดี เปิดโอกาสให้คนรู้จักให้อภัย โดยเฉพาะตัวเองที่เคยก้าวพลาดในชีวิต รวมทั้งอยากจะบอกสังคมว่า ขอให้เข้าใจ และให้โอกาสพวกเราได้พิสูจน์ตัวเองบ้าง เพราะคนที่เข้ามาอยู่ที่บ้านหลังนี้ บางคนไม่ใช่คนผิดเสมอไป แต่ต้องติดร่างแหจากบ่วงกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อโดยตรง” น้องหวานเย็น กล่าว

จากข้อมูลสถิติจำนวนคดีอาญาของเด็ก และเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ เก็บรวมรวมข้อมูล โดยกลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศ สำนักพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็ก และเยาวชน ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2551 จำนวน 39,160 ราย พบว่า

เด็ก และเยาวชน ที่มีอายุ 7-14 ปี ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 6,103 ราย แบ่งเป็นชาย 5,437 ราย และหญิง 666 ราย ส่วนอายุ 15-18 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 33,057 ราย เป็นชาย 30,164 ราย และหญิง 2,853 ราย 1,631 ราย ไม่เคยได้รับการศึกษา ส่วน 11,534 ราย,15,416 ราย และ 8,152 ราย กำลังศึกษาอยู่ระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลายหรือสูงกว่าตามลำดับ สำหรับ 2,427 ราย กำลังศึกษาอยู่ในวัด หรือโรงเรียนสอนศาสนา นอกจากนี้เมื่อสำรวจถึงลักษณะการอยู่อาศัยของเด็ก พบว่า ร้อยละ 48.08 (18,828 ราย) อาศัยอยู่กับครอบครัว (พ่อแม่อยู่ด้วยกัน) ส่วนร้อยละ 51.92 (20,332 ราย) ครอบครัวแยกกันอยู่

สำหรับสาเหตุของการกระทำผิดของเด็ก และเยาวชน พบว่า ร้อยละ 0.17 (65 ราย) มีอาการป่วยทางจิต ร้อยละ 4.51 (1,765 ราย) ทะเลาะวิวาท ร้อยละ 6.74 (2,639 ราย) เกิดจากสภาพทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.94 (1,153 ราย) ถูกผู้อื่นชักจูง/บังคับ ร้อยละ 5.35 (2,095) มาจากสภาพครอบครัว ร้อยละ 40.33 (15,794 ราย) คบเพื่อน ร้อยละ 10.31 (4,039 ราย) รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ร้อยละ 17.91 (7,014 ราย) คึกคะนอง และร้อยละ 11.74 (4,596 ราย) ให้การปฏิเสธตลอดข้อหา
ธวัชชัย ไทยเขียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกลงไปถึงฐานการกระทำผิดของเด็ก และเยาวชน พบว่า ร้อยละ 27.41 (10,733 ราย) มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ร้อยละ 14.05 (5,503 ราย) มีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ร้อยละ 4.13 (1,619 ราย) ผิดเกี่ยวกับเพศ ร้อยละ 6.40 (2,508 ราย) มีความผิดเกี่ยวกับความสงบ เสรีภาพ ชื่อเสียง และการปกครอง ร้อยละ 24.03 (9,409 ราย) มีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ร้อยละ 6.46 (2,530 ราย) ผิดเกี่ยวกับอาวุธ และวัตถุระเบิด ส่วนความผิดอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 17.51 (6,858 ราย)
 
สำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของเด็ก และเยาวชน จำแนกตามประเภทของยาเสพติดที่ถูกจับดำเนินคดีมากที่สุด คือ ยาบ้า คิดเป็นร้อยละ 57.33 (5,394 ราย) รองลงมาคือสารระเหย กัญชา และกระท่อม คิดเป็นร้อยละ 15.63 (1,471 ราย),12.78 (1,202 ราย) และ ร้อยละ 10.13 (953 ราย) ตามลำดับ


นอกจากนี้ ยังมีคดีเด็ก และเยาวชน ที่เป็นการกระทำผิดซ้ำเมื่อเปรียบเทียบกับคดีรับใหม่ทั้งหมด จำแนกตามเพศ และอายุ พบว่า อายุ 7-14 ปี มีคดีรับใหม่ทั้งหมด 6,103 ราย ส่วนคดีที่เป็นการกระทำผิดซ้ำ 659 ราย สำหรับอายุ 15-18 ปี มีคดีรับใหม่ทั้งหมด 33,057 ราย ส่วนคดีที่เป็นการกระทำผิดซ้ำ 4,891 ราย เป็นชายที่มีคดีรับใหม่ทั้งหมด 35,601 ราย และ 5,303 ราย เป็นการกระทำผิดซ้ำ ในส่วนของเพศหญิงมีคดีรับใหม่ทั้งหมด 3,559 ราย และ 247 ราย เป็นการกระทำผิดซ้ำ


จากสถิติจำนวนตัวเลขดังกล่าว ธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัญหาเด็ก และเยาวชน จะโทษที่ตัวเด็กเองไม่ได้ แต่ต้องโทษจากการกระทำ และการปฏิบัติตัวของผู้ใหญ่ เพราะเด็กคือผ้าขาวบริสุทธิ์ แต่กลับเห็น และเลียนแบบการก่อความรุนแรงจากผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็ก หลอมรวมเป็นการกระทำที่ขาดสติ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งพ่อแม่บางคน ดูแลลูกแบบอิสระ ไม่ล้อมคอกให้อยู่ในกฎ ส่งผลให้ลูกขาดวินัย และความรับผิดชอบ กลายเป็นเด็กมีปัญหา และกระทำความผิดได้ง่าย

“ถามว่า ทำไมปัญหาเด็ก และเยาวชนยังมีเพิ่มมากขึ้น เพราะสังคมไม่เคยสร้างมิติสุข มีแต่สร้างมิติแห่งความเลวร้าย ผู้ใหญ่ไม่เคยเข้าใจ และเตรียมอนาคตให้เด็ก กลับทำลายอนาคตด้วยการเป็นต้นแบบที่ไม่ดี สร้างค่านิยมแห่งความรุนแรง มองเด็กเป็นแค่ไม้ประดับ ดังนั้น การจะคิดแก้ปัญหาเด็ก และเยาวชน ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจหัวใจเด็ก ว่าเด็กต้องการอะไร ไม่ใช่เอาแต่ความคิดของผู้ใหญ่เป็นตังตั้งเพียงอย่างเดียว” อธิบดีกรมพินิจ และคุ้มครองเด็ก และเยาวชน กล่าว

นอกจากนี้ ยังฝากถึงสังคมด้วยว่า อย่ามองเด็กที่อยู่ในสถานพินิจฯ เป็นคนไม่ดี หรือเป็นเด็กมีปัญหาเสมอไป แต่จงมอง และเปิดรับด้วยหัวใจ เพราะพวกเขากำลังรอโอกาสจากพวกคุณ เพื่อพร้อมจะยืนอยู่ในสังคมอย่างอนาคตของชาติคนหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาได้ก้าวพลาด มันทำลายอนาคตบางส่วนไปแล้ว อย่าให้พวกเขาต้องทนรับกับสภาพสังคมที่ไม่เคยเข้าใจเขาแบบนี้อีกเลย การให้อภัย และให้โอกาส...คือ สิ่งที่คนในสังคมควรจะกระทำมิใช่หรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น