xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานแจ้งยอดเลิกจ้างปี 51 พุ่งเกือบครึ่งแสน จับตาอีก 252 บริษัทปิดตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงแรงงานเผยตัวเลขเลิกจ้างปี 2551 พบลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้ว 4.7 หมื่นคน โดยบริษัทปิดกิจการถึง 329 แห่ง การผลิตสิ่งทอสิ่งถัก เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์ และรองเท้าเลิกจ้างมากสุด เฝ้าระวังบริษัทอีก 252 แห่ง ลูกจ้างกว่าแสนคน มีแนวโน้มปิดกิจการตามมา


นายพรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์เลิกจ้างช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 12 ธันวาคม 2551 ว่า มีสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้างลูกจ้าง 574 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 47,064 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 252 แห่ง ลูกจ้าง 112,259 คน

ทั้งนี้ พิจารณาตามลักษณะต่างๆ ได้คือ พื้นที่เลิกจ้างมากที่สุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 9,479 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้าง 33 แห่ง จังหวัดสมุทรปราการ ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 9,232 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้าง 79 แห่ง กรุงเทพฯ ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 5,189 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้าง 87 แห่ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 4,183 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้าง 18 แห่ง และจังหวัดตาก ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 3,331 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้าง 25 แห่ง

สำหรับขนาดสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างและลักษณะการเลิกจ้างนั้น พิจารณาได้ว่า สถานประกอบกิจการขนาด 50 ถึง 299 คน เลิกจ้างมากที่สุด 165 แห่ง ลูกจ้าง 13,118 คน รองลงมาเป็นสถานประกอบกิจการขนาด 10 ถึง 49 คน เลิกจ้าง 161 แห่ง ลูกจ้าง 2,990 คน สถานประกอบกิจการขนาดเล็ก 1 ถึง 9 คน เลิกจ้าง 149 แห่ง ลูกจ้าง 418 คน สถานประกอบกิจการขนาด 300 ถึง 999 คน เลิกจ้าง 69 แห่ง ลูกจ้าง 13,529 คน สถานประกอบกิจการขนาด 1,000 คนขึ้นไป 30 แห่ง ลูกจ้าง 17,009 คน

จำแนกตามลักษณะการเลิกจ้างได้ คือ ปิดกิจการจำนวน 329 แห่ง ลูกจ้าง 20,586 คน เลิกจ้างลูกจ้างเพียงบางส่วนและยังคงดำเนินกิจการ จำนวน 245 แห่ง ลูกจ้าง 26,478 คน

ประเภทกิจการที่เลิกจ้างตามลำดับ ได้แก่ การผลิตสิ่งทอสิ่งถัก เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์ และรองเท้า เลิกจ้าง 75 แห่ง ลูกจ้าง 12,871 คน การผลิตเครื่องประดับและเฟอร์นิเจอร์ 53 แห่ง ลูกจ้าง 5,705 คน การบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ และบริการรับทำบัญชี เลิกจ้าง 47 แห่ง ลูกจ้าง 1,836 คน การขายปลีกของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน เลิกจ้าง 45 แห่ง ลูกจ้าง 256 คน การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ โลหะ เลิกจ้าง 42 แห่ง ลูกจ้าง 1,768 คน ที่เหลือเป็นกิจการประเภทอื่นๆ

พิจารณาตามสาเหตุการเลิกจ้าง ได้แก่ การประสบภาวการณ์ขาดทุน ขาดสภาพคล่องมากที่สุดจำนวน 338 แห่ง ลูกจ้าง 19,621 คน รองลงมา คือ การสั่งซื้อที่ลดลง จำนวน 93 แห่ง ลูกจ้าง 19,225 คน สาเหตุอื่น (หมดฤดูกาลผลิต, สินค้าไม่ได้คุณภาพ) จำนวน 44 แห่ง ลูกจ้าง 731 คน และการลดขนาดองค์กร จำนวน 29 แห่ง ลูกจ้าง 2,119 คน

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงแรงงานยังเปิดเผยถึงข้อมูลสถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มเลิกจ้างว่า จากการเฝ้าระวังโดยพิจารณาจากสถานการณ์บ่งชี้ ซึ่งทำให้คาดหมายได้ว่าอาจจะมีการเลิกจ้างถ้าปัญหาดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ และนายจ้างยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พบว่า มีสถานประกอบกิจการ 252 แห่ง ลูกจ้าง 112,259 คน มีข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการเลิกจ้างดังนี้ คือ ลดการผลิต ลดวันทำงาน 102 แห่ง ลูกจ้าง 42,103 คน มีการหยุดกิจการชั่วคราวและจ่ายค่าจ้างบางส่วน 81 แห่ง ลูกจ้าง 37,890 คน อื่นๆ คือแจ้งการปิดกิจการ หมดสัญญาเช่าที่ดิน 28 แห่ง ลูกจ้าง 7,110 คน ส่วนการค้างจ่าย/ผิดนัดการจ่ายค่าจ้าง 15 แห่ง ลูกจ้าง 19,233 คน ลดขนาดองค์กร 7 แห่ง ลูกจ้าง 2,534 คน ขาดแคลนวัตถุดิบ 6 แห่ง ลูกจ้าง 877 คน ที่เหลือเป็นข้อบ่งชี้ในลักษณะอื่นๆ

สำหรับพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างพบว่า 5 จังหวัดแรก คือ จังหวัดนครราชสีมา ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 19,752 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้ม 7 แห่ง จังหวัดสมุทรปราการ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 12,421 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้ม 20 แห่ง จังหวัดปทุมธานี ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 10,720 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้ม 25 แห่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 9,874 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้ม 15 แห่ง และจังหวัดชลบุรี ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 8,236 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้ม 28 แห่ง

สุดท้ายคือ ประเภทกิจการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง พบว่า เป็นสถานประกอบกิจการประกอบธุรกิจผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง จำนวน 49 แห่ง ลูกจ้าง 45,942 คน มากที่สุด และรองลงมาคือผลิตสิ่งทอสิ่งถัก เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์ และรองเท้า มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง จำนวน 27 แห่ง ลูกจ้าง 8,828 คน การผลิตยานยนต์ และอุปกรณ์ขนส่ง มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง จำนวน 23 แห่ง ลูกจ้าง 21,624 คน การผลิตเครื่องจักร มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง จำนวน 22 แห่ง ลูกจ้าง 7,569 คน การผลิตเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง จำนวน 22 แห่ง ลูกจ้าง 6,224 คน การผลิตเครื่องเรือนและการผลิตซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (เฟอร์นิเจอร์, เครื่องประดับ) มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 21 แห่ง ลูกจ้าง 4,225 คน ที่เหลือเป็นกิจการประเภทอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนอยู่ระหว่าง 1 ถึง 10 แห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น