xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลประเมินเด็กไทยเรียนวิทย์-คณิต คะแนนต่ำลง อ้างปัญหาขาดครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสวท.เผยผลประเมินการเรียนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ของเด็กไทย มีคะแนนลดต่ำลง และคะแนนเฉลี่ยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้ไต่ระดับมีคะแนนในอันดับสูงทั้ง 2 วิชาแซงสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น คาดเกิดจากปัญหาขาดครู

น.ส.นารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร รองผู้อำนวยการ สสวท. และ ดร.ปรีชาญ เดชศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท. แถลงผลประเมินการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ภายใต้โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ร่วมกับนานาชาติ ปี พ.ศ.2550 โดยดำเนินการประเมินผลนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ใน 2 วิชาดังกล่าว จำนวน 5,412 คน จาก 150 โรงเรียน ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2547-2551 มี 59 ประเทศ และ 8 รัฐเข้าร่วมประเมินทุก 4 ปี

ดร.ปรีชาญ กล่าวว่า กลุ่มประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด 5 ประเทศ อยู่ในทวีปเอเชียทั้งหมดได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ส่วนประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ (500 คะแนน) และอยู่ในกลุ่มที่ 3 ของคะแนนรวม และผลประเมินทั้ง 2 วิชาของเด็กไทยมีคะแนนที่ลดลงกว่า เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยเมื่อแยกลำดับคะแนนตามสังกัด พบว่า โรงเรียนสาธิตในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีคะแนนมากกว่าโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มากกว่าโรงเรียนสังกัดสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น (สศท.) และสำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร และที่น้อยที่สุดคือโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยประเทศไทยโรงเรียนขนาดใหญ่จะมีคะแนนสูงที่สุด แต่โรงเรียนขนาดเล็กมีคะแนนต่ำสุด ซึ่งมีกว่า 4,000 โรงเรียน

ดร.ปรีชาญ กล่าวด้วยว่า แม้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยจะลดต่ำลง แต่เมื่อดูแนวโน้มของหลายประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่เคยมีคะแนนระดับสูงก็ลดต่ำลงมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นกับประเทศใดจะปรับตัวได้ดีกว่าเพื่อพร้อมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผลประเมินลดลง คาดว่าเป็นเพราะปัญหาการขาดแคลนครู จากการเออรี่รีไทร์ครูดี ๆ ออกจากระบบ และรับครูใหม่เป็นครูอัตราจ้าง นอกจากนี้ ยังเกิดจากโรงเรียนขยายโอกาส หรือโรงเรียนระดับมัธยมมีมากขึ้นทำให้ฐานที่นำมาประเมินกว้างขึ้น คะแนนจึงลดลง

ดร.ปรีชาญ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอที่ได้จากการประเมินผลครั้งนี้ คือ ต้องเร่งพัฒนาครู และอำนาจการบริหารจัดการการศึกษาควรแยกออกจากการบริหารของรัฐบาล เพราะนโยบายการศึกษาจะได้มีแผนการจัดการศึกษาที่ชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย เห็นได้ว่า ในการประเมินผลสัมฤทธิ์วิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ไต่ระดับได้คะแนนสูงทั้ง 2 วิชา แทนสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น เพราะทั้ง 2 ประเทศมีเป้าหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังพบว่า การเรียนภาษาแม่หรือภาษาไทย และภาษาที่ 2 ให้ดี จะส่งผลให้เด็กเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ได้ดี เพราะทำให้มีจินตนาการและจะสามารถแก้โจทย์เชิงประยุกต์ได้

ด้าน ดร.พรพรรณ กล่าวว่า ผลประเมินยังพบว่า เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากกานา แต่เมื่อเทียบจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปี ประเทศที่มีคะแนนประเมินอยู่ในระดับสูง มีชั่วโมงเรียนต่อปีมากกว่า ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะหลักสูตรการศึกษาไทยมีกิจกรรมมาก และช่วงปิดเทอมค่อนข้างยาว

สำหรับผลประเมินวิชาคณิตศาสตร์ของประเทศไทย ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 29 ขณะที่ประเทศมาเลเซียอยู่ที่อันดับที่ 20 ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยมีคะแนนเท่ากับประเทศมาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 21
กำลังโหลดความคิดเห็น