xs
xsm
sm
md
lg

“ปลื้ม” เนื้อเต้นโพลนำศึกผู้ว่าฯ กทม. “คุณชาย” ตามติด “แซม” ยังห่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครผุ้ว่าฯ กทม.เบอร์ 8
เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจโค้งแรกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบคนกรุง 81% ยังไม่ทราบวันเลือกตั้ง “ปลื้ม” เนื้อเต้นโพลนำ “คุณชาย” ส่วน “แซม” มาอันดับ 3 ระบุคะแนนเสียงปลื้มมาจากกลุ่มมีการศึกษาต่ำกว่า ป.ตรี-ป.ตรี ส่วนคุณชายได้เสียงหนุนจากกลุ่มการศึกษา ป.ตรีขึ้นไป

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยโพลล์เลือกตั้ง เรื่อง “โค้งแรกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใครนำใครตาม” ศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 2,207 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3-8 ธันวาคม 2551 พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 81.3 ยังไม่ทราบวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ร้อยละ 18.7 ระบุว่าทราบแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตั้งใจจะเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 37.0 ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล อย่างไรก็ตาม อันดับที่สอง ได้ค่าร้อยละไม่แตกต่างกันในทางสถิติ คือร้อยละ 36.4 ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และอันดับที่สาม หรือร้อยละ 17.3 ตั้งใจจะเลือก นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 9.3 ตั้งใจจะเลือกคนอื่นๆ เช่น นายแก้วสรร อติโพธิ นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล นางลีน่า จังจรรจา เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกกลุ่มคนที่ถูกศึกษาออกตามเพศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงมีสัดส่วนของคนที่ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาย อยู่เล็กน้อย คือร้อยละ 38.3 ต่อ และร้อยละ 35.5 ในทางตรงกันข้าม กลุ่มตัวอย่างที่เป็นชายมีสัดส่วนของคนที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นหญิงอยู่เล็กน้อย คือ ร้อยละ 37.3 ต่อ ร้อยละ 35.6 ตามลำดับ
 
ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ตั้งใจจะเลือกนายยุรนันท์ ภมรมนตรี มีสัดส่วนไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชายกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหญิง คือร้อยละ 17.0 ต่อ ร้อยละ 17.5

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อจำแนกตามกลุ่มช่วงอายุ พบประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ได้รับการสนับสนุนแรงจากกลุ่มช่วงอายุ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มตัวอย่างที่อายุต่ำกว่า 20 ปี กลุ่มตัวอย่างที่อายุระหว่าง 20-29 ปี และกลุ่มตัวอย่างอายุ 40-49 ปี คือร้อยละ 33.8 ต่อร้อยละ 39.4 และร้อยละ 39.4 ตามลำดับ ในขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับการสนับสนุนแรงจาก กลุ่มช่วงอายุ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนอายุ 30-39 ปี และกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป คือ ร้อยละ 40.8 และร้อยละ 39.5 ตามลำดับ และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบความแตกต่างกัน คือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และปริญญาตรี ในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ ร้อยละ 37.4

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดจากกลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี คือร้อยละ 61.7 และปริญญาตรีร้อยละ 42.0 แต่ได้รับการสนับสนุนจากตัวอย่างที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีอยู่ร้อยละ 32.8 ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อมาพิจารณาที่กลุ่มอาชีพ พบความแตกต่างกันอีกเช่นกัน คือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ได้รับการสนับสนุนแรงจากกลุ่มข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ คือ ร้อยละ 42.7 และกลุ่มแม่บ้านรวมทั้งผู้เกษียณอายุ คือร้อยละ 38.8 และกลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 38.6 ในขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับการสนับสนุนแรงจาก กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 41.2 กลุ่มผู้ค้าขายส่วนตัว ร้อยละ 40.1 และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 37.4 ตามลำดับ

เมื่อจำแนกตามระดับรายได้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 39.1 ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฎฐกรณ์ และกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 10,001-15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 45.2 ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 บาทขึ้นไป กลับพบว่าสูสีกัน คือ ร้อยละ 40.1 จะเลือก ม.ล.ณัฎฐกรณ์ แต่ ร้อยละ 43.1 ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

เมื่อจำแนกตามจุดยืนทางการเมือง พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 50.2 ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล ในขณะที่ร้อยละ 26.4 ระบุตั้งใจจะเลือก นายยุรนันท์ ภมรมนตรี และร้อยละ 16.1 ระบุตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สำหรับกลุ่มผู้ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลนั้น ร้อยละ 77.1 ระบุตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในขณะที่ร้อยละ 12.8 ระบุตั้งใจจะเลือก 12.8 ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ และร้อยละ 4.4 ระบุ ตั้งใจจะเลือก นายยุรนันท์ อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มพลังเงียบนั้น ร้อยละ 36.6 ระบุ ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ร้อยละ 36.7 ระบุตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 16.0 ระบุตั้งใจจะเลือก นายยุรนันท์ ตามลำดับ ที่ต้องพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.1 ระบุอาจเปลี่ยนใจได้อีก ร้อยละ 30.7 ระบุไม่เปลี่ยนใจแล้ว และ ร้อยละ 34.2 ไม่ระบุว่าจะเปลี่ยนใจอีกหรือไม่

ส่วนคุณสมบัติของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ตัวอย่างระบุเป็นเหตุผลในการเลือก ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.3 ระบุซื่อสัตย์สุจริต รองลงมาคือร้อยละ 58.0 ระบุมีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้จักป้องกันปัญหา ร้อยละ 55.3 ระบุกล้าคิดกล้าทำ ร้อยละ 51.4 ระบุรวดเร็วฉับไวแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 47.3 ระบุเข้าถึงใกล้ชิดประชาชน ร้อยละ 46.7 ระบุมีผลงานเห็นได้ชัดเจน เป็นต้น ส่วนเรื่องการสังกัดพรรคการเมืองมีประชาชนที่ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 10.4 ที่มองว่าเป็นเหตุผลสำคัญหลักในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้

ดร.นพดล เปิดเผยด้วยว่า ปัญหาเร่งด่วนของคนกรุงเทพฯ ที่ตัวอย่างอยากให้แก้ไข อันดับแรกหรือร้อยละ 60.3 ระบุเป็นปัญหาจราจร รองลงมาคือ ร้อยละ 48.2 ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ร้อยละ 21.2 ระบุปัญหาความไม่สะอาด สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ร้อยละ 13.5 ระบุปัญหาสังคม ที่อยู่อาศัยแออัด และร้อยละ 8.7 ระบุปัญหาความไม่ปลอดภัย ปัญหาอาชญากรรม แต่เมื่อถามถึงปัญหาเร่งด่วนของครอบครัวและตัวผู้ตอบแบบสอบถาม กลับพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.0 ระบุเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเงิน ปัญหาปากท้อง รองลงมาคือร้อยละ 14.5 เท่านั้นที่ระบุปัญหาจราจร และร้อยละ 7.8 ระบุปัญหาชุมชน ที่อยู่อาศัยแออัด เป็นต้น
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 2
นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 10
กำลังโหลดความคิดเห็น