xs
xsm
sm
md
lg

ครม.แก้ 10 มาตราร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีเมือง เจริญศิริ
ครม.มีมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2540 ของกระทรวงศึกษาธิการ มีการแก้ไขรวมทั้งหมด 10 มาตรา

วานนี้(19 พ.ย.) นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 รวมทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 ครม.จึงเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ สกศ.เสนอ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีทั้งสิ้น 10 มาตรา รายละเอียดดังนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “มาตรา 7 ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความรู้รักสามัคคี ปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย มีระเบียบวินัย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง”

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “มาตรา 10 การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาสำหรับบุคคล ซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสอง ให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ต้องจัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น”

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความของมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “มาตรา 12 บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษา โดยได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด”

มาตรา 6 เพิ่มมาตรา 12/1 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ดังต่อไปนี้ “มาตรา 12/1 การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ”

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “(2) เงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาของบุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแลที่ครอบครัวจัดให้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด”

มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “มาตรา 14 บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ซึ่งสนับสนุนหรือจัดการศึกษา มีสิทธิ ได้รับสิทธิประโยชน์ตามควรแก่กรณี ดังต่อไปนี้ (1) การสนับสนุนจากรัฐให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ
(2) เงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด
(3) การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด”

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความใน (1) ของมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “(1) ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์และหน้าที่ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทย เอกลักษณ์ของชาติ และระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงาม”

มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
กำลังโหลดความคิดเห็น