ก.ค.ศ.ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจหารือกรณีครู 2,000 คนบุกหอประชุมครุสภา เรียกร้องให้แก้ปัญหาครูไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะ “ชินภัทร” เผยเตรียมหาทางปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกว่า 4 ชั่วโมงเพื่อหารือกรณีที่ครูประมาณ 2,000 คน เดินทางมาชุมนุมที่หอประชุมคุรุสภาเมื่อวันที่ 21 ต.ค.เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แก้ปัญหาข้าราชการครูจำนวนมากไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะ ส่งผลให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ ที่มีคนเป็นประธานมาพิจารณาหาทางแก้ปัญหานี้ รวมทั้ง หาทางปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะฉบับใหม่ที่เพิ่งยกร่างเสร็จ (ว.2.) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า การประเมินวิทยฐานะในปัจจุบันซึ่งให้น้ำหนักต่อการประเมินผลงานทางวิชาการมากที่สุด แต่ผลงานครูส่งใหญ่กลับไม่ผ่านการประเมิน ส่วนหนึ่งเพราะเกณฑ์การประเมินเข้มเกินไป โดยตามเกณฑ์กำหนดไว้ว่า ให้ตั้งกรรมการประเมินผลงานวิชาการและประเมินผลการประปฏิบัติงานของครู 1 ชุด จำนวน 3 คน โดย ผลงานวิชาการและผลการปฏิบัติงานของครูจะต้องได้คะแนนจากกรรมการทั้ง 3 คน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ในทั้ง 2 ส่วน และเมื่อนำคะแนนผลงานทางวิชาการและผลการปฏิบัติงานมารวมกันแล้วจะต้องได้คะแนนเฉลี่ยจากกรรมการทุกคนไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 70 จึงจะผ่านการประเมิน หากกรรมการรายใดให้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า ร้อยละ 70 ตกการประเมินทันที ซึ่งจุดนี้ที่ประชุมเห็นว่าควรจะต้องทบทวน และเมื่อลองเปรียบเทียบกับเกณฑ์ประเมินของมหาวิทยาลัยแล้ว ถ้ากรรมการ 2 ใน 3 ให้ผ่านก็จะถือว่าผ่าน
นอกจากนั้น ที่ประชุมเสนอให้มีการปรับโครงสร้างของกรรมการตรวจผลงานทางวิชาการ ซึ่งเดิมกำหนดว่า ให้ใช้กรรมการที่เป็นคนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1 รายที่เหลืออีก 2 รายเป็นนักวิชาการนอก สพฐ. แต่ในความเป็นจริงมีครูขอรับการประเมินวิทยฐานะจำนวนมากหาคนนอกมาเป็นกรรมการให้ครบจึงทำได้ยากมาก อีกทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจะไม่เข้าใจบริบทงานสอน ของครูในโรงเรียนแค่ดูตามเนื้อผ้า ประเมินตามเกณฑ์ผลงานวิชาการของครูจำนวนมากจึงไม่ผ่านการประเมิน
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ จะสรุปแนวทางปรับเกณฑ์และนำเสนอ นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาในเร็วๆ นี้ ส่วนการปรับปรับหลักเกณธ์การประเมินใหม่นั้น ตกลงกันว่า จะต้องยกร่างใหม่และนำเสนอ ก.ค.ศ.ให้ได้ภายใน 1 ปี
ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ทราบว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานปลัด ศธ.ได้ประชุมเรื่องการปรับหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ และจะเสนอต่อ นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณา ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้นได้ตั้งข้อเสนอไป ว่า ครูไม่ผ่านการประเมินนั้น มี 3 ลักษณะ คือ 1.ครูสอนดีแต่ไม่ผ่านการประเมินเพราะขาดทักษะในการเขียนผลงานวิชาการ ซึ่ง สพฐ.เสนอให้มีการช่วยครูดีเหล่านี้โดย ให้คำปรึกษาการเขียนผลงานวิชาการ เพื่อให้ครูผ่านการประเมิน 2. กลุ่มครูที่ผลงานยังไม่เป็นที่ประจักษ์ และงานด้านวิชาการก็ยังไม่ดี จะให้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จัดการอบรม พัฒนาทั้งสองด้านให้ดีขึ้น และ 3.ครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่พร้อมส่งผลต่อการทำผลงาน สพฐ. ก็ขอให้มีการปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่เหล่านั้น
“เท่าที่ดูเห็นว่าครูเหล่านี้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ไม่ผ่านการประเมินเพราะไม่ถนัดการเขียนผลงานทางวิชาการ ซึ่งตรงนี้ได้ขอให้ ผอ.สพท.ไปดูแล ส่วนการขอเลื่อนวิทยฐานะของ ผอ.สพท.พบว่าบางคนยังทำผลงานวิจัยได้ไม่ดี หรือบางคนทำได้ดีแต่ทำรูปเล่มไม่ดี ดังนั้นจะมอบให้ นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการ กพฐ.ไปประสานกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อเชิญมาเป็นที่ปรึกษาในการผลงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากทำได้ทั้งสองอย่างจะทำให้เรามีผลงานวิจัยที่ดีขึ้น และนำผลงานวิชาการที่ได้จากการวิจัยไปพัฒนาให้ดีขึ้นด้วย” คุณหญิงกษมา กล่าว