xs
xsm
sm
md
lg

เตือนกิน "กลอย" หน้าฝนเจอพิษ "ไดออสคอรีน" ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทสัมผัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยเตือนไม่ควรกินกลอย ช่วงหน้าฝน ชี้พบสาร "ไดออสคอรีน" มีฤทธิ์กดระบบประสาทสัมผัส ทำให้คันปาก อาเจียน ใจสั่น ตาพร่ามัว ถึงขั้นเป็นลม เตือนประชาชนระวัง ควรบริโภคจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ
หัวกลอย
จากกรณีที่พนักงานบริษัทแอดเดอรานไทย จำกัด ตำบลเสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ 20 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ เนื่องจากเกิดอาการมึนและปวดหัวอย่างรุนแรงรวมทั้งอาเจียนไม่หยุดหลังจากรับประทานกลอยนึ่งคลุกมะพร้าวในช่วงพักกลางวันนั้น

ดร.เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสรีระวิทยาและชีวเคมีด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กลอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dioscorea hispida ในหัวกลอยมีแป้งมากและมีสารพิษที่ชื่อว่าไดออสคอรีน (Dioscorine) พิษชนิดนี้จะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งประสาทส่วนกลางมีผลต่อการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น การสัมผัสทางกาย

ดังนั้นคนที่รับประทานกลอยที่มีสารพิษเข้าไปจึงมักมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และเมื่อประสาทส่วนกลางบีบหัวใจทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่า อึดอัด และเป็นลมได้ในที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษ ความต้านทานของแต่ละคน

"จากรายงานการศึกษาพบว่าปริมาณสารพิษของหัวกลอยในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกัน และยังพบอีกว่ากลอยจะมีพิษมากในช่วงที่กลอยออกดอก คือช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคม – ตุลาคม และจะลดลงเมื่อกลอยเริ่มลงหัวในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน"

ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า แม้หัวกลอยจะมีพิษ แต่ก็มีการนำหัวกลอยมาใช้เป็นอาหาร อาทิ ใช้นึ่งกับข้าวเหนียว ทำแกงบวด หรือทอดคล้ายถั่วลิสงชุบแป้งทอด เป็นต้น เนื่องด้วยสารไดออสคอรีนเป็นสารพิษที่สามารถละลายน้ำได้ดี

ดังนั้นหากเอาน้ำละลายสารพิษออกมาได้หมดก็สามารถรับประทานได้ ซึ่งคนสมัยก่อนมีวิธีการล้างพิษกลอยด้วยการฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบางๆแล้วนำมาแช่น้ำไหล เช่น ในลำธาร ซึ่งต้องใช้เวลาชะล้างสารพิษนานไม่ต่ำกว่า 7 วัน หรืออีกวิธีหนึ่งคือนำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น โดยเกลือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารไดออสคอรีนในแผ่นกลอยได้เร็วขึ้น แต่ต้องถ่ายน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง และใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า 3 วัน

ส่วนการแช่น้ำไว้หลายวัน จนกว่าเมือกที่ผิวกลอยจะหมดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันได้ 100% ว่าจะไม่มีพิษเหลือยู่ เพราะสารพิษที่ยังอยู่ภายในเนื้อกลอยอาจยังซึมออกมาข้างนอกไม่หมดก็เป็นได้

"อย่างไรก็ดีปัจจุบันเรายังไม่มีระบบการตรวจสอบสารไดออสคอรีนในกลอยก่อนออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนพึงระวังคือไม่ควรรับประทานกลอยในช่วงฤดูฝน และหันมารับประทานในช่วงฤดูร้อนซึ่งจะปลอดภัยกว่า และควรบริโภคจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือได้ มีการแจ้งแหล่งผลิตชัดเจน ตรวจสอบได้ และที่สำคัญหากรับประทานแล้วเกิดอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้แนะนำว่าไม่ควรให้เด็กรับประทานกลอยจะดีที่สุด เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย สารพิษกระจายตัวในร่ายกายเร็วกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งเวลาที่เกิดอาการข้างเคียงเด็กจะไม่เข้าใจ หรือสงสัย และด้วยรสชาติกลอยที่มีรสมันเหมือนกินถั่ว ทำให้รู้ตัวเมื่อแสดงอาการมากแล้ว จึงค่อนข้างอันตรายสำหรับเด็ก"ดร.เฉลิมพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น