xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ปรับเกณฑ์ประเมินคุณภาพภาพนอกสถานศึกษาพื้นที่ภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ.ปรับเกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 2 ให้เขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เหมาะสมพื้นที่ และสร้างกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน โดยพิจารณาปรับปรุงด้านมาตรฐานผู้เรียนละใช้มาตรฐานบางข้อ สำหรับบางช่วงชั้น เชื่อไม่ทำให้คุณภาพการศึกษาใต้ต่ำ แต่ทำให้เกิดความยืดหยุ่นดีขึ้น

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การพิจารณาเพื่อประเมินคุณภาพภายนอก รอบสอง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (พ.ศ.2549-2553) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับโรงเรียนในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา 4 อำเภอ เฉพาะอำเภอนาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย เพื่อให้การประเมินมาตรฐานเป็นไปตามบริบทที่มีความยุ่งยาก และผ่านการรับรองโดยไม่รู้สึกว่าตนเองล้มเหลว อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอีกด้วย

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการปรับเกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอกนั้น สพฐ.ได้ปรับปรุงประเด็นมาตรฐานด้านผู้เรียนเฉพาะมาตรฐานที่ 4 และ 5 เท่านั้น โดยมาตรฐานที่ 4 กำหนดไว้ว่าผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ ไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาเดิมไว้ ดังนี้ 4.1 ร้อยละของผู้เรียนที่สามารถจำแนกแจกแจงองค์ประกอบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างถูกต้อง 4.2 ร้อยละของผู้เรียนที่สามารถจัดลำดับข้อมูลได้ถูกต้อง 4.3 ร้อยละของผู้เรียนที่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างหมวดหมู่ได้อย่างถูกต้อง 4.4 ร้อยละของผู้เรียนที่สามารถจัดกลุ่มความคิดตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้ถูกต้อง 4.5 ร้อยละของผู้เรียนที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ได้อย่างตรงประเด็น 4.6 ร้อยละของผู้เรียนที่สามารถสรุปสาระและเชื่อมโยงเพื่อนำมาวางแผนงานโครงการได้ และ 4.7 ร้อยละของผู้เรียนที่สามารถสรุปเหตุผลเชิงตรรกะและสร้างสิ่งใหม่ได้

ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาใหม่ขอปรับให้มีการพิจารณาแบบช่วงชั้น โดยระดับประถมศึกษา ช่วงชั้นที่ 1(ป.1-3) และช่วงชั้นที่ 2(ป.4-6) ให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาเฉพาะข้อ 4.1 ถึงข้อ 4.5 เท่านั้น ส่วนระดับมัธยมศึกษา ช่วงชั้นที่ 4(ม.1-3) และช่วงชั้นที่ 5(ม.4-6) ให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาครบทุกข้อ ตั้งแต่ข้อ 4.1 ถึง 4.7

ส่วนเกณฑ์การประเมินคุณภาพจากค่าร้อยละเฉลี่ย แบ่งเป็น ระดับปรับปรุงยังใช้เหมือนเดิม คือ ผู้เรียนต่ำกว่าร้อยละ 50 ต้องมีคุณลักษณะตามเกณฑ์การพิจารณา แต่ในระดับพอใช้ ปรับจากร้อยละ 50-74 เป็น ร้อยละ 50-68 ระดับดี ปรับจากร้อยละ 75-89 เป็น ร้อยละ 68-89 และระดับดีมากยังใช้ของเดิมคือตั้งแต่ร้อยละ 90 ขึ้นไป

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับ มาตรฐานที่ 5 กำหนดว่าผู้เรียนจะต้องมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ซึ่งมาตรฐานที่ 5 นี้ยังคงใช้ตัวบ่งชี้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เหมือนเดิม ส่วนเกณฑ์การพิจารณา ยังใช้เกณฑ์เดิม คือ ผู้เรียนระดับชั้น ป.3, ป.6, ม.3 และ ม.6 ร้อยละของผู้เรียนมีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติอยู่ในระดับดี สำหรับเกณฑ์การประเมินคุณภาพจากค่าร้อยละเฉลี่ยนั้น ของเดิมแบ่งเป็น ระดับปรับปรุง ผู้เรียนร้อยละ 50 มีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติระดับดี ระดับพอใช้ ผู้เรียนร้อยละ 50-74 มีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติอยู่ในระดับดี ระดับดี ผู้เรียนร้อยละ 75-89 มีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติระดับดี และระดับดีมาก ผู้เรียนร้อยละ 90 ขึ้นไปมีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติระดับดี

ขอปรับเป็นระดับปรับปรุง ผู้เรียนต้องมีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติอยู่ในระดับดีเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับผลการประเมินปีที่ผ่านมา ระดับพอใช้ ผู้เรียนที่มีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติอยู่ในระดับดีเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 16-35 เมื่อเทียบกับผลการประเมินปีที่ผ่านมา ระดับดี ผู้เรียนที่มีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติอยู่ในระดับดีเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 36-50 เมื่อเทียบกับผลการประเมินปีที่ผ่านมา และระดับดีมาก ผู้เรียนที่มีผลการเรียนรวบยอดระดับชาติอยู่ในระดับดีเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป เมื่อเทียบกับผลการประเมินปีที่ผ่านมา

“สพฐ.จะทำบันทึกการปรับปรุงมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การพิจารณาเพื่อประเมินคุณภาพภายนอก รอบสอง ไปยังสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าเกณฑ์ใหม่จะสามารถนำมาใช้ได้ประมาณเดือนธันวาคมนี้ เชื่อว่าเกณฑ์ใหม่นี้จะไม่ทำให้คุณภาพการศึกษาในภาคใต้ตกต่ำลง แต่กลับช่วยยืดหยุ่นให้กับโรงเรียนที่ได้รับการประเมินให้อยู่ระดับพอใช้ให้ได้ขยับไปยู่ระดับดีได้มากขึ้น ” รองเลขาฯ กพฐ. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น