xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเหล้าขออนุญาตสอน “เป็ดเหลิม” ชี้สกัดเหล้าต้องคุมทั้งโฆษณา-ทั้งขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เรียกผู้ประกอบการสื่อทีวี เคเบิล อินเทอร์เน็ต โรงหนัง ชี้แจงหลักเกณฑ์ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุเห็นใจเพราะเป็นกฎหมายใหม่ โทษหนัก ต้องทำความเข้าใจ ชี้มีผู้ผลิตบางรายเล่นแง่ศรีธนญชัยเก็บป้ายที่ตักเตือนเฉพาะที่ ส่วนพื้นที่อื่นไม่ยอมเก็บ เผยผู้ผลิตเห็นด้วยห้ามขายวันสำคัญทางศาสนา ส่วนการห้ามขายช่วงเทศกาลรอถกอีกครั้งศุกร์นี้ ด้านเครือข่ายงดเหล้า ยันการห้ามโฆษณา ห้ามขายต้องดำเนินการควบคู่กัน หลัง ‘เหลิม’ แบะท่าบอกคุมโฆษณาเป็นเรื่องยาก แนะหยุดขายตลอดช่วงเทศกาล สกัดการเข้าถึง ลดอุบัติเหตุ

วันนี้ (21 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวในการประชุม การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้กับผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ เคเบิลทีวี สื่ออินเทอร์เน็ต และโรงภาพยนตร์ ว่า วันนี้เป็นการเชิญสื่อที่นำเสนอโดยภาพมาพูดคุยถึงแนวทางในการดำเนินการ เพราะหากดูตามมาตรา 32 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ได้ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

แต่ขณะเดียวกัน ในมาตรา 32 วรรคสอง ได้เปิดช่องโดยยกเว้นให้เฉพาะผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ต้องกำหนดรายละเอียดของการยกเว้นนี้ให้ออกมาเป็นกฎกระทรวงก่อนเท่านั้น ซึ่งหากมีการตีโดยเคร่งครัดจะเห็นว่าการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นการกระทำที่ผิดทั้งสิ้น

“ในขณะนี้ที่มีการยกเว้นให้นั้นผู้ผลิตเองต้องนำเสนอ เนื้อหาข้อมูลในเชิงที่สร้างสรรค์สังคม และมีโลโก้ผลิตภัณฑ์ได้เท่านั้น จะให้เห็นขวด กล่องของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้เป็นของใหม่ และมีโทษที่รุนแรง จึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ที่สามารถอะลุ้มอล่วยได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอร่างกฎกระทรวงข้างต้นตามขั้นตอนเพื่อประกาศออกมาใช้บังคับต่อไป ซึ่งตอนนี้หลังจากที่ พ.ร.บ.ออกมากว่า 8 เดือน ก็มีทางเครือข่ายฯ ร้องเรียนเข้ามาก็จะเข้าดำเนินการแจ้งผู้ผลิตให้สั่งระงับหรือหยุดการกระทำ แต่ก็มีบางรายก็ทำตามแต่เป็นในรูปแบบของศรีธนชัยคือเก็บเฉพาะส่วนที่โดนตักเตือน แต่ในขณะที่ป้ายเช่นเดียวกันตามที่ต่างๆ ตามภูมิภาคก็ยังมีให้เห็นอยู่” นพ.สมาน กล่าว

สำหรับการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลนั้น นพ.สมาน กล่าวอีกว่า ตอนนี้ได้มีการแบ่งช่วงที่จะมีการกำหนดไว้ 2 กลุ่ม คือ 1.ห้ามจำหน่ายในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา เป็นต้น ซึ่งในวันหยุดสำคัญดังกล่าวนี้ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดผู้ผลิตเห็นด้วย

แต่ที่มีปัญหาอยู่ที่กลุ่ม 2 คือ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล วันหยุดยาว เช่น วันปีใหม่ สงกรานต์ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และพูดคุยว่าจะสั่งห้ามจำหน่ายทั้งช่วงเทศกาล หรือเพียงแค่ช่วงหัวท้ายของเทศกาล โดยได้มอบให้สวนดุสิตโพลเป็นผู้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วไป ซึ่งในวันศุกร์นี้ (24 ต.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สธ.จะเรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อกำหนดขั้นตอนในการออกประกาศต่อไป

เมื่อถามว่าจะสามารถออกฎห้ามจำหน่ายได้ทันช่วงเทศกาลปีใหม่นี้เลยหรือไม่นั้น นพ.สมาน กล่าวว่า หากทางรัฐบาลสนับสนุน และมีการเร่งดำเนินการในส่วนของข้อกฎหมายก็น่าจะทัน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สธ.
ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์หรือเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข แสดงความคิดเห็นในภาพรวมว่า การห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องลำบาก จึงไปเน้นเรื่องมาตรการห้ามจำหน่ายจะได้ผลดีกว่า ซึ่งการพูดเช่นนี้ ท่านอาจจะไม่ทราบเรื่องกฎหมาย เพราะใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ระบุว่าห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เว้นแต่รายละเอียดที่ระบุไว้ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการน้อยกว่าภายใต้ที่กฎหมายระบุไว้

“การที่ ร.ต.อ.เฉลิมพูดไปเช่นนี้อาจเป็นเพราะท่านไม่ทราบข้อมูล หรืออาจไม่เข้าใจในประเด็นเรื่องกฎหมาย ซึ่งทางเครือข่ายฯก็สามารถนำข้อมูลต่างๆไปชี้แจงให้ทราบได้ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทั้งนี้การห้ามโฆษณาถือว่าเป็นการห้ามแบบระยะยาว แต่การห้ามการจำหน่ายถือว่าเป็นการห้ามแบบทันทีทันใด ที่ลดการเข้าถึงอย่างทันที ซึ่งทั้งสองอย่างถือว่ามีความจำเป็นทั้งคู่ ต้องดำเนินการควบคู่กันไป“นายคำรณ กล่าว

นายคำรณ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในส่วนของการห้ามการจำหน่ายที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปนั้น แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าวันสำคัญทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา ฯลฯ สมควรที่จะห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในส่วนของวันหยุดเทศกาล อาทิ เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ต้องการให้มีการห้ามในช่วงเทศกาล อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯ มีความเห็นว่าควรห้ามจำหน่ายตลอดช่วงเทศกาล เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

“การห้ามจำหน่ายในช่วงเทศกาลไม่ใช่การห้ามดื่ม แต่เป็นการสกัดกั้นการเข้าถึงในการซื้อหา ให้ทำได้ยากขึ้น เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการไปซื้อมาทานต่อ ทั้งนี้จะดำเนินการได้ในระดับไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทางเครือข่ายฯมีความเห็นว่าอย่างไรก็ควรห้ามขายทั้งช่วงเทศกาล ส่วนที่ผู้ประกอบการเกรงว่าจะกระทบยอดขายนั้นก็เป็นเรื่องเทคนิคที่จะไปดำเนินการกันเอาเอง เพราะห้ามขายแต่ไม่ได้ห้ามดื่ม” นายคำรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น