สพฐ.ปิ๊งไอเดีย ให้เด็กเรียนประวัติศาสตร์ผ่านละคร จุดประกายให้เด็กหันมาสนใจประวัติความเป็นมาชาติไทย ปลูกจิตสำนึกรักชาติ ซึ่งไม่ต้องนั่งท่องตำราเหมือนในอดีต
นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รอง กพฐ.) เผยความคืบหน้าการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ว่า ขณะนี้ ศธ.ร่วมมือกับกรมศิลปากร ปรับปรุงรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์นำเสนอเป็นละครประวัติศาสตร์ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) นำไปเสนอโรงเรียนในเขตพื้นที่ของตัวเอง ส่วนเนื้อหาจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลไม่เน้นเนื้อหา
โดยรูปแบบการนำเสนอมี 2 แบบ คือ 1.ละครประวัติศาสตร์ที่เป็นภาษาไทย 2.ละครประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษ เน้นรูปแบบการเรียนรู้ การค้นคว้าหาข้อมูล ความร่วมมือและการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียนทำให้เด็กได้รู้จักการทำงานร่วมกัน และรู้จักการเข้าสังคม
“เดิมเราเรียนวิชาประวัติศาสตร์อย่างเดียว เด็กจึงไม่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับเรื่องราวที่ครูได้เล่า ถ้าใช้ละครเป็นสื่อและเด็กมีส่วนร่วม จะสร้างความประทับใจให้แก่เด็ก ส่งผลให้เด็กหันมาสนใจประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี กิจกรรมการเรียนประวัติศาสตร์ผ่านละคร ไม่ได้เน้นเฉพาะเนื้อหาเท่านั้นแต่เน้นให้เด็กคิดรูปแบบการเรียนรู้ขึ้นเองด้วย”
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รักษาการที่ปรึกษา สพฐ.กล่าวเสริมว่า การนำเสนอในรูปแบบละครสามารถปรับใช้ได้กับเด็กทุกระดับชั้น ระดับเล็กส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก่อน ก็สามารถสืบค้นข้อมูลจากระดับท้องถิ่นได้ ตรงนี้เป็นการจุดประกายให้เด็กสนใจและตั้งใจเรียนประวัติศาสตร์มากขึ้น
“การจัดกิจกรรมละครประวัติศาสตร์ เป็นการเรียนประวัติแบบค้นคว้า เรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่เน้นท่องจำ อีกอย่างการใช้ละคร ยังปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์โลก โดยจะไม่เน้นตัวบุคคลและสงคราม แต่จะให้เด็กเรียนรู้ความเป็นมาของผู้ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมใหม่ของชาวไทยด้วย”