xs
xsm
sm
md
lg

มศว ชี้ยัดเยียดเด็กเล็กเรียนภาษา เสี่ยงเด็กเบื่อเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มศว เผยการสอนภาษาเด็กปฐมวัยแนวใหม่ ฝึกฟัง-พูดในชีวิตประจำวัน ไม่ควรเรียนภาษาที่เป็นรูปแบบมากนัก อย่ายัดเยียดให้เด็กฝึกอ่าน-เขียน เสี่ยงทำให้เด็กเบื่อเรียน บั่นทอนพัฒนาการทางภาษา

รศ.ดร.เยาวพา เดชะคุปต์ อาจารย์สาขาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) หัวหน้าโครงการพัฒนาทัศนะใหม่ทางการศึกษาปฐมวัย : กระบวนการพัฒนาภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยในทศวรรษใหม่ เปิดเผยว่า ในขณะนี้แนวคิดทางด้านการพัฒนาภาษาของเด็กปฐมวัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีรูปแบบการพัฒนาทางภาษาหลายรูปแบบ โดยคำนึกถึงสมองเป็นฐานในการเรียนรู้มากขึ้น แต่เดิมแนวคิดการพัฒนาภาษาในเด็กปฐมวัยเราจะเริ่มจากการทำให้เด็กคัดเขียนอ่าน สะกดคำให้ถูกต้อง เขียนให้ได้ เน้นการท่องจำเป็นหลัก แต่แนวคิดการพัฒนาภาษาเด็กแนวใหม่นั้นใช้วิธีบูรณาการแบบองค์รวม โดยเน้นกระบวนการทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน พ่อแม่ครู ต้องจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งผู้ปกครองยังเข้าใจผิดว่าเมื่อส่งลูกไปเรียนลูกต้องอ่านได้เขียนได้ การเรียนภาษาในยุคใหม่เราต้องดูประสบการณ์ของเด็กเป็นหลัก ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จากนั้นเราก็จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะกับให้สอดคล้องกับเด็ก และต้องประกอบด้วยทักษะ 4 ส่วนคือการฟัง พูด อ่านและเขียน ในเด็กปฐมวัยเราต้องเริ่มจากการให้เขาฟังให้มากๆ จากนั้นจึงสอนพูด อ่านและเขียน แต่เดิมเรามีความเชื่อว่าเมื่อเด็กเข้ามาสู่โรงเรียนเราต้องจับเด็กหัดคัดเขียน ซึ่งเป็นแนวคิดความเชื่อที่ผิด

“การเรียนภาษาของเด็กปฐมวัยควรจะทำให้เกิดการบูรณาการและทำให้เกิดความสมดุลย์ในการใช้ภาษาและถ้าจะให้ได้ผลดีเด็กๆ ต้องเรียนภาษาจากประสบการณ์ปกติเวลาเด็กอยู่ที่บ้าน เขาจะเกิดประสบการณ์ทางภาษาอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ประสบการณ์ทางภาษาจะมาจากการฟัง การพูด การสังเกตุ การมองเห็น จากนั้นจึงค่อยเข้าสู่การอ่านและเขียน การที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ได้พูดคุย ได้ฟัง หรือเวลาที่พ่อแม่อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง หรือให้เด็กๆ ดูรูปภาพ ภาษาที่เด็กได้รับในลักษณะนี้เป็นภาษาที่เกิดจากประสบการณ์ทั้งสิ้น ถือเป็นภาษาที่เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ พ่อแม่ ครู จึงควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กเป็นหลัก เด็กปฐมวัยไม่ควรเรียนภาษาที่เป็นรูปแบบมากนัก โดยไม่ต้องเน้นการคัดเขียนอ่าน”

รศ.ดรเยาวพา กล่าวอีกว่า บางโรงเรียนต้องการจัดการศึกษาให้โดนใจพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่สมัยนี้ต้องการให้ลูกอ่านออกเขียนได้ ซึ่งอยากจะบอกสถาศึกษาที่เปิดสอนเด็กในระดับปฐมวัยและพ่อแม่ว่าทำอย่างไรจะพัฒนาภาษาให้เด็กโดยใช้วิธีการทางธรรมชาติให้เขาสนุกที่จะฟัง พูดและได้เล่นเพื่อให้เกิดความสนุก แต่การสอนโดยให้เด็กเขียนและอ่าน พอถึงช่วงหนึ่งเด็กจะเบื่อหน่ายการเรียน และทำให้การพัฒนาการทางภาษาลดลงอย่างน่าเสียดาย
กำลังโหลดความคิดเห็น