“ดร.แดน” ลั่นหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.พร้อมทุ่มงบ 700 ล้านบาท ปราบหนู กำจัดแมลงสาบทั่วเมืองกรุง พร้อมให้ลดหย่อนภาษีรถเข็น ร้านค้าถ้าทำถูกสุขลักษณะ และแนะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกคนควรมีจรรยาบรรณในการหาเสียง ขณะที่ “อภิรักษ์” ชูนโยบายสุขภาพ 11 ข้อเอาใจคนกรุง
เมื่อเวลา 06.30 น.ที่ตลาดสดคลองเตย นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 2 ลงพื้นที่หาเสียงพบผู้ค้าย่านตลาดสดท่าเรือคลองเตย พร้อมแถลงข่าวประกาศสงครามกับหนูและแมลงสาบโดยจะกำจัดให้หมดจากพื้นที่ กทม. ภายใน 1 ปี หากได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.
โดยนายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ตนจะมอบหมายให้สำนักอนามัยจัดส่งมือปราบหนู แมลงสาบ ไปประจำทั้ง 50 เขตโดยให้ประชาชน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอาสาสมัคร โดยจะทุ่มงบประมาณในการกำจัด 700 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นจะใช้สารเคมี จำพวกสารซิงค์ฟอสไฟด์ เร็คสควิล สารหนูแอนทู สารเคมีจำพวกคาร์บาเมต ออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มไพเรธริน โดยจะใช้ควบคู่ไปกับวิธีทางชีววิทยา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งสารเคมีดังกล่าวนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อคน และไม่มีสารตกค้าง และในระหว่างที่ลงมือปฏิบัติงานก็จะให้ความรู้แก่ประชาชนควบคู่กับการทำโครงการ ตลาดสด แผงค้า รถเข็นถูกสุขลักษณะ ซึ่งหากร้านค้าใดมีสภาพที่สะอาด ปลอดจากหนู และแมลงสาบจะได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษี
นายเกรียงศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีการโฆษณาแฝงของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 5 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บนป้ายประชาสัมพันธ์ กทม.ว่า ทุกฝ่ายควรเล่นตามกติกา และต้องทำให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ควรล้ำเส้น คาบลูกคาบดอก ส่วนใครจะเอื้อประโยชน์ให้ใครตนไม่ขอวิจารณ์ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาเองได้ ทั้งนี้ตนขอเรียกร้องให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่เสนอตัวมารับใช้ประชาชนมีจรรยาบรรณในการหาเสียงด้วย
ขณะที่นายอภิรักษ์ ได้ลงพื้นที่หาเสียงที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี วงศ์สว่าง พร้อมแถลงนโยบายหาเสียงเลือกตั้งด้านสุขภาพ โดยชูสโลแกนคนกรุงเทพแข็งแรงมีความสุข ในนโยบาย 11 ข้อ ประกอบด้วย 1.จัดหน่วยพยาบาล กทม.เคลื่อนที่เยี่ยมบ้านและที่ทำงาน ตามโครงการ“สุขภาพดีถึงที่บ้าน” (Home Healthcare) และ “สุขภาพดีถึงที่ทำงาน” ( Office Healthcare) โดยจะกำหนดให้บุคลากรด้านสาธารณสุข ของกทม. ออกเยี่ยมบ้านและที่ทำงานเพื่อให้ความรู้ด้านการป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพรวมทั้งการตรวจสุขภาพฟรีให้กับผู้ป่วยสูงอายุที่อยู่ตามบ้านและไม่สามารถเดินทางมารับการรักษาได้ 2. ขยายเครือข่ายดูแลสุขภาพร่วมกับภาครัฐ (สปสช., สสส.) เอกชน (รพ.เอกชน,ร้านขายยาทั่ว กทม.) และประชาชน (อสส.28,000 คน ดูแลสุขภาพประชาชน 1,700 แห่งทั่ว กทม.) 3.ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่งของ กทม.ให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์ HCA (Health Center Accreditation) พร้อมปรับภาพลักษณ์การให้บริการในทุกมิติ ทั้งด้านบุคลากรและการรักษา ตลอดจนคุณภาพยา เสร็จสิ้นภายในปี 2552 4.พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นหน่วยแรกรับ (Primary Care Unit) ในการให้บริการผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล
5.พัฒนาโรงพยาบาล 9 แห่งของ กทม.ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง (Excellence Center) 6.จัดตั้งหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน โทร.199 รับส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินไปโรงพยาบาลฟรี 7.ส่งเสริมให้มีชมรมผู้สูงอายุทั้ง 50 เขต จัดตั้งสมาพันธ์ผู้สูงอายุแห่ง กทม. ให้ผู้สูงอายุได้พบปะ เพื่อให้เป็นเครือข่ายดูแลผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคนใน กทม. 8.จัดทำ สมุดคู่มือสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อบันทึกประวัติการเจ็บป่วยประจำตัว 9.จัดให้มีศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Center) เพื่อรวมและพัฒนาบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับตรวจรักษาผู้สูงอายุ 10.จัดตั้งโครงการคลังสมองเพื่อดึงผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ด้านต่างๆเพื่อเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม เช่นด้านการศึกษา การแพทย์ การฝึกอาชีพ เป็นต้น และ 11.จัดให้มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อคนต่อเดือน