เมื่อนึกถึง “หุ่นยนต์” หรือการแข่งขันต่างๆ ที่ต้องอาศัยการประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไก หรือใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คนส่วนใหญ่คงนึกถึงเด็กผู้ชายเป็นหลัก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปบวกกับศักยภาพของเด็กที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน ความคิดและความเชื่อเหล่านี้อาจสั่นคลอนได้ เมื่อนักเรียนหญิงกลุ่มหนึ่งใน พ.ศ.2551 ได้แสดงให้รู้ว่า พวกเธอก็มีศักยภาพในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ได้เช่นกัน
สำหรับกลุ่มนักเรียนหญิงที่หันมาจับงานด้านประดิษฐ์หุ่นยนต์เริ่มขึ้นแล้วในหลายๆ โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น นักเรียนจากเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ วัฒนาวิทยาลัย ฯลฯ และจากการแข่งขันหุ่นยนต์ของ สสท.ประจำปี 2551 ณ เดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเวทีสร้างชื่อให้กับทีม “ใต้ฟ้าหลังคาแดง” จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย บนสนามการแข่งขันหุ่นยนต์ที่เคยมีแต่เด็กผู้ชายครอบครอง โดยพวกเธอสามารถทำคะแนนในการแข่งขันได้เป็นอันดับที่ 4
นุ้ก - พนิดา วิศัลย์ศยา, น้ำหอม - วริษฐา เกียรติศิริชัย และพรรณ - พชรพรรณ สง่าศรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์-คณิต คือ 3 นักเรียนที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นนักเรียนกลุ่มแรกที่นำร่องเรื่องการแข่งขันหุ่นยนต์ในโรงเรียน โดยในช่วงเริ่มแรกนั้น พวกเธอพยายามค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์ด้วยตนเองอย่างหนัก และส่งผลให้ทางโรงเรียนหันมาสนับสนุนความพยายามของพวกเธอในที่สุด
การค้นคว้าหาความรู้ของพวกเธออยู่ในรูปแบบของการเข้าค่ายอบรมที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ค่าย “KMITNB THAI LIFE ROBOT CAMP 2006” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ นอกจากนั้น ยังมีค่ายนักวิจัยรุ่นเยาว์ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (2550) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช.กับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นค่ายที่เจาะลึกเรื่องหุ่นยนต์โดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมา เวลามีค่ายที่น่าสนใจ “นุ้ก” ในฐานะที่มีความสนใจมากที่สุด มักก็จะชวนเพื่อนๆ ไปด้วย เนื่องจากเชื่อว่า การไปค่ายทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น และมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่ต้องการเรียนในระดับอุดมศึกษาได้อย่างถูกต้องด้วยอีกทางหนึ่ง
ขณะที่ น้องน้ำหอม กล่าวว่า สิ่งที่พวกเธอต้องมุ่งมั่นต่อไปคือการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะรูปแบบการเรียนของวัฒนาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนประจำ ซึ่งจะแตกต่างกับโรงเรียนไปกลับ จึงอาจส่งผลต่อการพัฒนาด้วยเช่นกัน
“ความที่โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนประจำ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เราก็อยู่แต่ในโรงเรียน การที่เราได้ออกไปแข่งขันข้างนอกทำให้เรารู้ว่า ในขณะที่เราเพิ่งเริ่มต้นที่จะทำอะไรนั้น โรงเรียนอื่นอาจไปไกลกว่าเราเยอะแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่หยุดนิ่ง”
สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ หุ่นยนต์ของทีมใต้ฟ้าหลังคาแดงได้แสดงละครเพลงเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง เวอร์ชัน 2008 ซึ่งนอกจากการพัฒนาหุ่นยนต์กลไกให้สามารถแสดงละครเรื่องนี้แล้ว ทีมของพวกเธอก็ยังมีฝ่ายศิลป์ ผู้ออกแบบฉากด้วย ซึ่งก็คือ น้องพรรณ - พชรพรรณ นั่นเอง
“ไม่ว่าจะเป็นคุณครู หรือเพื่อนๆ ต่างให้การสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเราอย่างเต็มที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เป็นการรีไซเคิลจากสิ่งที่มีอยู่ในโรงเรียน ทำให้คณะกรรมการชื่นชมเป็นอย่างมากเพราะใช้งบประมาณค่อนข้างน้อย” น้องพรรณเล่า
ด้านครูนวลพันธ์ ตรานานนนท์ ครูผู้สอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมถึงสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยเปิดเผยว่า “ตอนนี้นักเรียนค่อนข้างตื่นตัวเกี่ยวกับการแข่งขันหุ่นยนต์มากขึ้น ไม่เฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 แต่รุ่นน้อง ม.5 ก็มีหลายคนที่เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ โดยเป็นการแข่งขันของ UTCC ROBOT Challenge 2008 ชิงถ้วยพระราชทาน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ทำให้ผู้อำนวยการ อาจารย์วิภาวดี ชีวะผลาบูรณ์ เปิดหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 วิชา คือ วิชาหุ่นยนต์หรรษา สำหรับนักเรียนชั้น ม.5 ได้เรียนเพิ่มเติม โดยเรามีหุ่นยนต์ประกอบการเรียนการสอน และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”
แม้ว่าในความคิดที่จำกัดของใครหลายคนอาจมองว่า เด็กผู้หญิงกับตุ๊กตา เล่นขายของ หรือทำอาหาร นั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว แต่วันนี้ นักเรียนหญิงกลุ่มหนึ่งกำลังจะบอกว่า พวกเธอมีความสนใจในศาสตร์หุ่นยนต์และศาสตร์ของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะลงมือพัฒนาด้วยเช่นกัน แม้ว่าประสบการณ์ของพวกเธอจะยังน้อย กลไกและเทคนิคต่างๆ อาจจะยังสู้โรงเรียนอื่นไม่ได้ก็ตาม ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ในอนาคต พวกเธออาจเป็นนักพัฒนาหุ่นยนต์หญิงที่มีความสามารถเทียบเคียงกับผู้ชายได้ในวันหนึ่ง เหมือนเช่นที่ น้องแหวน-นวรัตน์ เติมธนาสมบัติ นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีม พลาสม่า-อาร์เอ็กซ์ และพลาสม่า-ซี ที่เคยนำทีมหุ่นยนต์ไทยไปสร้างชื่อเสียงในเวทีการแข่งขันระดับโลกมาแล้วก็เป็นได้