xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีให้ความรู้ ปชช.ถึงสาระ พ.ร.บ.คดีผู้บริโภค พร้อมบังคับใช้ 23 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคเปิดเวทีสภาผู้บริโภคให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับสาระสำคัญ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ 23 ส.ค.นี้ ระบุ พ.ร.บ.ฉบับนี้คุ้มครองข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภค มีกลไกเยียวยาให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

วันนี้ (17 ส.ค.) ที่ รร.อามารี แอร์พอร์ต นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวในเวทีสภาผู้บริโภค “ทุกข์ของเรา...ศาลผู้บริโภคช่วยได้หรือไม่” ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สภาทนายความ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดขึ้นที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ อีกทั้งการจัดเวทีสภาผู้บริโภคในวันนี้เพื่อให้ประชาชนรู้และเข้าใจสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ สามารถนำปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของตนมาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่สิทธิการเรียกร้องตามพระราชบัญญัติฯนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสาระสำคัญและประโยชน์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคครอบคลุมคดีพิพาทระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคทั้งผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภค หรือผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าและบริการโดยต้องมีการใช้สินค้าและบริการนั้นๆ มีกลไกเยียวยาให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เช่น ผู้บริโภคซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้าน อาหารและเครื่องดื่มทำให้ท้องเสีย ผู้ประกอบธุรกิจ คือ ธนาคารฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ โดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคไม่นับอายุความระหว่างที่มีการเจรจาข้อพิพาท จะเริ่มนับอายุความ 3 ปี เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลหรือภายใน 10 ปี นับตั้งแต่รู้ถึงความเสียหาย

ขณะที่กฎหมายแพ่งมีอายุความ 2 ปีตั้งแต่ใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ หากสินค้าไม่มีความปลอดภัยมีกลไกให้เปลี่ยนสินค้าใหม่ ภาพการทุบรถป้ายแดงคงจะหมดไป นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติไว้ว่า สามารถบังคับให้ผู้มีอำนาจในนิติบุคคลรับผิดชอบชำระค่าเสียหายให้กับผู้บริโภค ซึ่งเดิมนั้นประสบปัญหา “ล้มบนฟูก” คือ ผู้บริโภคชนะ แต่กลับไม่ได้อะไร เพราะมีการถ่ายโอนทรัพย์สินไปเป็นของส่วนบุคคล หากเป็นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ ส่วนผสมสินค้า การให้บริการหรือการดำเนินการใดๆ ภาระการพิสูจน์ในเรื่องเหล่านี้ตกเป็นของผู้ประกอบธุรกิจ การฟ้องคดีผู้บริโภคจะได้รับการยกเว้น “ค่าธรรมเนียมฤชา” ทั้งหมดและฟ้องด้วยวาจาได้

นอกจากนี้ ภายในงานมีทนายอาสามาตั้งโต๊ะให้คำปรึกษากับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเพื่อหาแนวทางในการเยียวยาซึ่งปัญหาที่นำมาปรึกษามีหลากหลาย เช่น ซื้อบ้านที่อยู่อาศัยแล้วมีปัญหาการโอน ปัญหาบัตรเครดิต เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น