กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า ยังไม่พบการก่อตัวของพายุสตอมเซอจ หรือคลื่นพายุซัดฝั่ง ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ถ้าพบก็จะแจ้งเตือนได้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน
หลังมีกระแสข่าวการเกิดสตอมเซอจ (Storm Surge) คลื่นพายุซัดฝั่ง หรือระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ที่คาดว่าจะเกิดบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ความรุนแรงเท่ากับพายุไซโคลนนาร์กีสจนทำให้ประชาชนหวาดวิตกในขณะนี้นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ในรอบ 57 ปี มีพายุเคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทยตอนบน ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. แต่ความรุนแรงน้อยกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งสตรอมเซอจที่จะเป็นอันตราย ส่วนมากเกิดจากพายุที่มีแรงลมมากกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุที่เคลื่อนตัวเข้าพม่า เกิดจากลมความชื้นมาก ทำให้พายุมีกำลังแรง แต่พายุที่เข้าอ่าวไทยเกิดจากลมความชื้นน้อย นอกจากนี้ ภูมิประเทศของพม่าเป็นแบบเปิดรับลม ส่วนอ่าวไทยเป็นแบบแคบและปิด
พื้นที่ชายฝั่งรอบอ่าวไทยตอนบน เคยเกิดสตอมเซอจ เมื่อครั้งพายุไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อปี 2532 และพายุไต้ฝุ่นลินดา เมื่อปี 2540 แต่ไม่รุนแรง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่า ถ้าจะมีพายุเคลื่อนตัวเข้ามาอีก ก็จะไม่รุนแรงมากเช่นกัน