สถาบันอุดมศึกษาชูมือหนุนให้ สกอ.กำหนดข้อบังคับให้มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการอาจารย์ที่กระทำอนาจาร หรือต้องโทษวินัยร้ายแรง เพื่อไม่ให้ใช้ตำแหน่งแอบอ้างกลับเข้ามาสอนหนังสือในสถาบันอื่นๆ อีก
จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เห็นด้วย ให้มีการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์ที่กระทำอนาจาร หรือทำผิดทางวินัยร้ายแรง เพื่อไม่ให้อาจารย์ที่มีประวัติกระทำผิดใช้ตำแหน่งทางวิชาการไปแอบอ้างได้อีก และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศึกษากฎหมายข้อบังคับ เรื่องบทลงโทษ การถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ เนื่องจากข้อกำหนดเรื่องดังกล่าวของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งแตกต่างกัน
ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ สกอ.จะออกข้อบังคับให้ทุกมหาวิทยาลัย กำหนดการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการอาจารย์ที่กระทำอนาจาร หรือทำผิดวินัยร้ายแรง เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณวิชาชีพครู และคนที่ประพฤติดังกล่าว ไม่สมควรที่ประกอบอาชีพครู อาจารย์อีก ส่วนการกำหนดถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์ของ มอบ.นั้นไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นความเห็นชอบของ ก.พ.อ. และ สกอ.ก็จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวเสนอสภามหาวิทยาลัย เชื่อว่าน่าจะเห็นชอบให้มีการปรับเปลี่ยนข้อบังคับใหม่เรื่องนี้
ศ.ดร.ประกอบ กล่าวอีกว่า กรณีผศ.จักรกฤทธิ์ อุทโธ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มอบ. ยื่นเสนอขอร่วมหลับนอนกับนักศึกษาเพื่อแลกเกรดนั้น ทางมหาวิทยาลัยได้ลงโทษด้วยการไล่ออก แต่ไม่ได้ถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ เพราะเชื่อว่าคนที่กระทำผิดร้ายแรงดังกล่าว คงไม่สามารถทำงานอาชีพครู อาจารย์ที่ไหนได้อีก ถ้า สกอ. มีมติเห็นชอบ กำหนดออกมาเป็นข้อบังคับร่วมกันทุกมหาวิทยาลัย ก็เป็นการดีที่ทำให้คนเหล่านั้นไม่สามารถเอาตำแหน่งทางวิชาการไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร โดยเฉพาะการกลับมาเป็นครู อาจารย์
ด้าน ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พิบูลสงคราม และประธานที่ประชุม มรภ.แห่งประเทศไทย กล่าวว่าขณะนี้ มรภ.ทุกแห่ง ไม่สามารถถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติ มรภ.พ.ศ.2547 ได้บัญญัติว่า ผู้ที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งจะติดตัวไปจนเกษียณอายุราชการ โดยเห็นว่า คนเหล่านี้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม แต่ที่ผ่านมา ได้มีการติดตามผลกระทบจากการใช้ พ.ร.บ.มรภ.2547 ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อแก้ไข และประเด็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นเรื่องสำคัญที่มีการพูดถึง และอาจต้องมีการเพิ่มเติม ว่าหากอาจารย์กระทำผิดวินัยร้ายแรง อาจต้องมีการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการได้
“เห็นด้วยที่มีการกำหนดถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ เนื่องจากคนที่จะมาเป็นครู อาจารย์ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม ถ้าทำอะไรผิดต้องลงโทษเป็น 2 เท่า มากกว่าคนทั่วไป” ดร.สว่างกล่าว