กรมวิทย์จับมือสถานเสาวภาวิจัยเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม ชนิดเอ และบี มั่นใจผลิตสำเร็จใช้ในประเทศ ส่งขายเพื่อนบ้าน พร้อมไม่ต้องนำเข้าราคาสูงลิบ
วันนี้ (30 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการศึกษาวิจัยและการพัฒนาการผลิตเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum antitoxin) โดย นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การผลิตเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เนื่องจากเซรุ่มชนิดนี้มีราคาแพง หาซื้อได้ยาก ซึ่งเซรุ่ม 10 โดส มีราคาประมาณ 10 ล้านบาท โดยประเทศไทยมีรายงานการเกิดโรคโบทูลิซึมทุกปี ดังนั้น หากสามารถผลิตเซรุ่มได้เองก็ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งอาจส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อีก ทั้งนี้จะเร่งรัดกระบวนการต่างๆ ให้เร็วที่สุด
นพ.มานิต กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานวิจัยร่วมกัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2553 งบประมาณ 5.6 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม เพื่อเพาะแยกเชื้อ โดยนำเชื้อที่ได้มาทดสอบปฏิกิริยาทางเคมีและตรวจพิสูจน์หาชนิดสารพิษ โดยการฉีดในหนูทดลองและตรวจยื่นยันสารพิษที่สกัดเป็นโปรตีน ก่อนที่จะนำสารดังกล่าวส่งต่อให้กับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อนำผลิตเป็นเซรุ่มต่อไป
“คาดว่าผลสำเร็จจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยมีเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม ชนิดเอ และบี ไว้สำหรับใช้ภายในประเทศ ซึ่งโรคโบทูลิซึ่มในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นพิษชนิดที่มีความรุนแรงมากและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เนื่องจากการรับประทานหน่อไม้ปี๊บโดยไม่นำมาต้มก่อน” นพ.มานิตย์กล่าว
ศ.นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า การผลิตเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม ถือเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ซึ่งสถานเสาวภามีความรู้ ทักษะและอุปกรณ์ในการผลิตเซรุ่มต้านพิษต่างๆ เช่น เซรุ่มป้องกันพิษงู เซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้าอยู่แล้ว ดังนั้น การผลิตเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม จึงใช้หลักการเดียวกับการผลิตเซรุ่มป้องกันพิษงู
“ในกรณีที่ไม่มีเซรุ่มป้องกันก็สามารถใช้เครื่องช่วยหายใจได้ แต่ถ้าเกิดการระบาดครั้งใหญ่ได้ คงไม่มีโรงพยาบาลใด ที่มีเครื่องช่วยหายใจจำนวนมาก ดังนั้น การผลิตเซรุ่มจึงมีความสำคัญมาก ทั้งนี้ อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อโบทูลินัมจะคล้ายอาการถูกงูเห่ากัด โดยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า พูดไม่ชัด หายใจลำบาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อในการควบคุมการหายใจจะไม่ทำงานทำให้เสียชีวิตได้”ศ.นพ.วิศิษฎ์กล่าว
ศ.พิเศษ สุมนา ขมวิลัย รองผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขั้นตอนกระบวนการศึกษาวิจัยนั้น หลังจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ นำสารพิษที่สกัดเป็นโปรตีนและผ่านการตรวจวิเคาระห์มาแล้วก็จะมีการทดลองในกระต่ายเพื่อตรวจสอบว่าสารดังกล่าวจะเป็นอันตรายหรือไม่ จากนั้นจึงนำมาฉีดกระตุ้นในม้า โดยใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ม้าสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งอาจจะมีการตอบสนองหรือไม่ก็ได้ แต่หากกระตุ้นเป็นผลสำเร็จ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตอีก 1 เดือน โดยมีเทคนิคในการนำเลือดม้ามาใช้ โดยผ่านกระบวนการทำให้เกิดความบริสุทธิ์ เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้ในคน แล้วจึงนำไปตรวจสอบผลยังกองชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะสามารถนำไปใช้ได้
“ขณะนี้ยังไม่ได้ได้คำนวณต้นทุนในการผลิต เนื่องจากในการวิจัยมีอุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญของเสาวภาอยู่แล้ว ซึ่งหากผลิตได้คาดว่าจะมีราคาถูกกว่าที่ผลิตจากต่างประเทศดังนั้นครึ่งหนึ่ง และหากผลิตจำนวนมาก ราคาอาจถูกกว่าถึง 20 เท่า” ศ.พิเศษ สุมนากล่าว