xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการนัดแถลงใหญ่ “พระวิหาร” พรุ่งนี้ เปิดข้อมูลลับให้เฉพาะสื่อเข้าฟัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการนัดแถลงใหญ่ “พระวิหาร” พรุ่งนี้!! เปิดเอกสาร-ดีวีดี ลับสุดยอด ความไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมการมรดกโลกสากล และอิโคโมสสากล ห้ามผู้อื่นเข้าร่วมนอกจากสื่อมวลชนที่ต้องแสดงบัตรชัดเจน ขณะที่วันนี้ยื่นเอกสารของกระทรวงบัวแก้วให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบพิรุธขั้นตอนดำเนินการ

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอนุกรรมการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันของเครือข่ายนักวิชาการในนาม “กลุ่มประชาชนชาวไทย ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย” วานนี้ (14 ก.ค.) ที่ประชุมมีมติว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปราสาทพระวิหาร และจะนำข้อมูลมาสรุป ประเมินผลในแง่มุมที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม นักวิชาการที่เป็นสมาชิกกลุ่มประชาชนชาวไทยฯ ยังสงวนสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นของตนเองต่อสาธารณชนได้

นายเทพมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือกันถึงการเสวนาถึงกรณีปราสาทพระวิหารที่จะมีในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) ในเวลา 09.00-12.00 น.ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ โดยมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยเชี่ยวชาญ 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นายสุริชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ มธ.นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน นิด้า เป็นต้น ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไป และผู้ที่สนใจเข้าร่วมด้วย

“จากนั้นในเวลา 14.00 น.นักวิชาการจะร่วมกันแถลงข่าวที่ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มธ.โดยการแถลงข่าวครั้งนี้เราจะขอเป็นการแถลงข่าวแบบปิด อนุญาตให้เฉพาะผู้สื่อข่าวเข้ารับฟังเท่านั้น โดยผู้สื่อข่าวจะต้องแสดงบัตรประจำตัวของต้นสังกัดที่ชัดเจน เนื่องจากจะมีการเปิดเอกสาร และดีวีดีลับเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมการมรดกโลกสากล และอิโคโมสสากล โดย ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูต ร่วมแถลงข่าวด้วย ซึ่งเมื่อสื่อได้ทราบข้อมูลต่างๆ แล้ว จะได้ช่วยกันสะท้อนไปถึงคณะกรรมการมรดกโลกไทย ชุดที่มี นายปองพล อดิเรกสาร เป็นประธานฯ เพื่อให้ทราบว่า เกิดอะไรขึ้น และคณะกรรมการมรดกโลกไทย ควรจะจัดการหรือรับผิดชอบอย่างไร”

นายเทพมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับการเคลื่อนไหวในวันนี้ (15 ก.ค.) ตนได้เข้ายื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ช่วยตรวจสอบ โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารลับมากของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ใช้ดำเนินการอยู่เฉพาะในกระทรวงเท่านั้น ซึ่งไม่มีการเปิดเผยมาก่อน และอีกชุดหนึ่งเป็นเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศ ทำรายงานถึงหน่วยงานสำคัญหน่วยงานหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเอกสารทั้ง 2 ชุดนี้ มีความไม่ชอบมาพากลของการนำเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่าด้วยเรื่องขั้นตอนต่างๆ ซึ่งผิดกับสิ่งที่คนในสังคมไทยได้รับรู้มาโดยตลอด

“เชื่อว่า หากประชาชนได้รับทราบข้อมูลต่างๆ จะรู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาในอดีต ประเทศไทยคัดค้านเรื่องสิทธิเหนือปราสาทพระวิหารของกัมพูชา และการขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชามาโดยตลอด แต่ถึงยุคสมัยหนึ่งกลับเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากต่อต้านกลายเป็นสนับสนุน และยอมกัมพูชาตลอดมา”

นายเทพมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนจะนำเอกสาร No.1224 ของอิโคโมสสากลที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกสากลว่าด้วยเรื่องขั้นตอนที่จะนำเสนอโปรเจกต์สมบูรณ์แบบหรือแผนแม่บทพัฒนาปราสาทพระวิหาร ปี ค.ศ.2009-2010 เพื่อให้ทันกับการประชุมครั้งที่ 34 ของคณะกรรมการมรดกโลกสากล โดยเอกสารมีบทสรุปที่น่าสนใจ เกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ของไทยที่ต้องถูกผนวกกับปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาขอจดทะเบียนมรดกโลก

นายเทพมนตรี ได้กล่าวถึงการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่พิพาท : กรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร ที่ห้องประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. นายปองพล นายพิษณุ สุวรรณะชฏ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และนักวิชาการต่างร่วมประชุมด้วยว่า การประชุมดังกล่าวนายปองพล ได้ออกจากห้องประชุมไปก่อนการประชุมเลิก จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ทั้งๆ ที่มติที่ประชุมเสนอให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมฯ ถือว่าเป็นการพูดที่ขัดกับมติที่ประชุม และผิดมารยาท นอกจากนี้ นายพิษณุ ซึ่งออกมาจากห้องประชุมก่อนเช่นกัน ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เห็นด้วยกับการให้ 7 ชาติเข้ามาบริหารพื้นที่ปราสาทพระวิหารร่วมนั้น ก็ไม่เป็นความจริง

“ในความเป็นจริงนั้น มีการถกเถียงกันเรื่องให้ 7 ชาติเข้ามาบริหารพื้นที่ร่วมอย่างดุเดือด จนถึงขั้นมีผู้ร่วมประชุมจำนวนหนึ่ง ระบุว่า หากที่ประชุมเห็นว่าควรให้ 7 ชาติเข้ามาบริหารพื้นที่ร่วมฯ ก็ให้ใส่ชื่อไว้ด้วยว่า มีผู้ใดไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้บ้างในบันทึกการประชุม จนท่าน ผบ.สส.ต้องบอกว่าให้ยกเรื่องนี้ออกไปก่อน จึงยังไม่มีมติเรื่องดังกล่าว การที่รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนั้นทำให้สังคมเข้าใจผิดและสับสน”








กำลังโหลดความคิดเห็น