นักวิชาการเรียกร้องให้อาจารย์-นักศึกษา ม.อุบลราชธานี ออกมายืนเคียงข้างนักศึกษาหญิงที่ถูก “อาจารย์หื่น” ลวนลาม พร้อมแนะให้แก้ระเบียบลงโทษอาจารย์ระดับสถาบันอุดมศึกษาให้รอบคอบมากขึ้น เพราะปัจจุบันแม้ถูกลงโทษก็ยังสามารถย้ายไปสอนที่อื่นได้อีก
ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวการล่วงละเมิดทางเพศของอาจารย์กับนักศึกษา ว่า ในระยะเวลาใกล้เคียงกันมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้งและในหลายมหาวิทยาลัย และก็ยังมีอีกมากในหลายสถานศึกษาที่ผู้เรียนไม่กล้าออกมาเปิดเผย เพราะอับอายและไม่ต้องการเป็นเป้าสายตาของสังคม เพราะเวลานี้การล่วงละเมิดทางเพศระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนกลายเป็นปัญหาสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยา รักษา รวมถึงต้องหามาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วนแล้ว เนื่องจากเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลหรือเป็นข่าวออกมาผู้เรียนที่ถูกกระทำก็จะถูกสังคมจับตามอง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ดังนั้น ในเบื้องต้นตนอยากให้ทุกสถานศึกษาจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาขึ้น เพื่อให้เด็กโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการเรียนและปัญหาส่วนตัว นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมูลนิธิต่างๆ ต้องออกมามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ทั้งการให้กำลังใจ สนับสนุนด้านการเงิน และเรื่องต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ถูกกระทำมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขต่อไป
รองอธิการบดีฝ่ายศูนย์การศึกษา มสด.กล่าวต่อไปว่า สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวบ่อยครั้งน่าจะมาจากกฏหมายที่ใช้ควบคุม และลงโทษข้าราชการอุดมศึกษา ซึ่งไม่มีการระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน ระบุไว้แต่เพียงว่า ข้าราชการต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี มีความสุภาพ ไม่กลั่นแกล้ง ดูหมิ่น ข่มเหง หรือเหยียดหยามผู้เรียน ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นความผิดทางวินัยต้องถูกลงโทษขั้นร้ายแรง
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้มีการกระทำผิดการล่วงละเมิดทางเพศได้ง่าย เพราะเห็นว่ากฏหมายที่ใช้ควบคุมไม่ระบุไว้ ไม่เหมือนกับกฏหมายที่ใช้บังคับข้าราชการครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้ากระทำการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะอยู่ในความรับผิดชอบหรือไม่ ต้องถูกลงโทษทางวินัยขั้นร้ายแรงทันที ตลอดจนยังสามารถสั่งให้ถอดถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อไม่ให้กลับมาทำอาชีพนี้ได้อีกด้วย ซึ่งไม่เหมือนกับข้าราชการอุดมศึกษาที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เมื่อเกิดปัญหามีการลงโทษก็ยังสามารถย้ายไปสอนที่อื่นต่อได้ ดังนั้นตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้ผู้ที่ทำหน้าที่ในการสอนทุกคนมีความสำนึกมากขึ้น โดยจะมีการนำเสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขกฏหมายที่ใช้บังคับในที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อวางกรอบล้อมคอบให้ชัดเจนก่อนจะเกิดปัญหาที่ร้ายแรงกว่านี้จนไม่สามารถแก้ไขได้
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากวิงวอนให้ทุกฝ่ายช่วยเหลือนักศึกษาหญิงที่ตกเป็นข่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบุคลากรในมหาวิทยาลัยอุบลฯ เองต้องออกมาปกป้องและอยู่เคียงข้างนักศึกษาให้มากกว่านี้ ซึ่งจากแถลงการณ์ขององค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ ก็ไม่ได้ระบุว่าจะช่วยเหลือหรืออยู่เคียงข้างเพื่อนนักศึกษาอย่างไร ทั้งองค์กรนักศึกษาฯ ควรที่จะพูดคุยกับเพื่อนให้ออกมาเป็นพยานด้วย เพราะเป็นการทำเพื่อหลักการและความถูกต้อง ที่สำคัญอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาจะต้องดูแลประคับประคองจิตใจนักศึกษาของตนเอง รวมไปถึงอธิการบดี ม.อุบลฯ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยให้นักศึกษาต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว