xs
xsm
sm
md
lg

“โรคอุบัติใหม่” ผลพวงจาก “ภาวะโลกร้อน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ มีข่าวความสูญเสียที่ต้องพบเจอสาเหตุจากภัยธรรมชาตินั้น ชวนให้นึกถึงคำพูดที่ว่า “ธรรมชาติกำลังย้อนกลับมาทำร้ายเรา” มนุษย์ผู้ซึ่งเป็นชนวนสำคัญของปัญหาเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

ท่ามกลางความปรวนแปรของธรรมชาติ อันเนื่องมาจาก “ปัญหาโลกร้อน” นี้เองที่เป็นเหมือนการปลุกให้คนทั้งโลกตื่นตัว เตรียมการรับมือกับเรื่องดังกล่าว...
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แดนมังกร มาพร้อมกับ พิบัติภัยพายุนาร์กีสในพม่า พิสูจน์ให้เห็นถึงความเสียหายที่ประจักษ์แก่สายตาคนทั้งโลกว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป...
ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล
เมื่อธรรมชาติเกิดความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ย่อมได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ จะมากหรือน้อยสุดแล้วแต่ ทำให้ล่าสุดกองทัพเรือ จับมือกับ ม.ธรรมศาสตร์-ม.เกษตรฯ - ม.มหิดล ร่วมกันถกในเรื่องของ วิกฤตและโอกาสจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง คือ “ผลของภาวะโลกร้อนต่อการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่” เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามด้วยประการทั้งปวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย...

** พาหะแพร่เชื้อข้ามเผ่าพันธุ์ เหตุวิบัติโรคภัย
สำหรับความกระจ่างในประเด็นดังกล่าวนั้น ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงที่มาที่ไปว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรื่องที่น่ากังวล คือ อาจมีโรคติดเชื้อแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนการดำรงชีวิตของสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคร้ายทั้งหลายก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมสัตว์บางชนิดก็จะออกมาสัมผัสกับคนหรือสัตว์ชนิดอื่น ทำให้มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้ ซึ่งตามธรรมชาตินั้นจะไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์ข้ามสปีชีส์นี้ สิ่งที่ตามมาคือ เชื้อจะมีความรุนแรงขึ้น หากมองจากไข้หวัดนกที่ส่วนใหญ่เชื้อนี้จะพบอยู่ในสัตว์จำพวกนกเป็ดน้ำ ห่านป่า ความรุนแรงของการก่อโรคก็จะไม่มาก แต่เมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มเข้ามาในไก่ เป็ด นก ที่เลี้ยงไว้ ความรุนแรงก็จะสูงขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสไม่มีโอกาสในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะใหม่ เช่นเดียวกับ โรคซาร์ส ที่มีค้างคาวเป็นพาหะ และตามธรรมชาติค้างคาวก็จะไม่เกิดโรคอะไร แต่เมื่อไหร่ที่เชื้อดังกล่าวก่อเกิดขึ้นกับสัตว์ประเภทอื่น กระทั่งสู่คน เมื่อเชื้อเปลี่ยนสภาวะที่ยากแก่การปรับตัวทำให้เชื้อทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นโรคใหม่ซึ่งไม่มีใครรู้จัก ไม่มีภูมิคุ้มกัน การระบาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย จึง เป็นที่มาของโรคอุบัติใหม่

** แหล่งอาศัยใหม่ “พาหะนำโรค” หลังเขตหนาวอุณหภูมิสูงขึ้น
ศ.นพ.ประเสริฐ อธิบายต่อว่า โรคบางชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่นโรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย ที่มียุงเป็นพาหะ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นเขตที่เคยหนาวเย็นก็อุ่นขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตได้ ดังเช่นโรคมาลาเรียที่มีการคาดเดากันว่าจะมีการแพร่เชื้อไปสู่เขตหนาวมากขึ้น แต่ในพื้นที่เขตร้อนอย่างประเทศไทยที่เป็นแดนระบาดอยู่ก่อนแล้วนั้น การเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ชัดเจน แต่ถ้าจะมีผลบ้างคงเป็นเรื่องของฤดูกาลระบาดที่ยาวนานขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าห่วงเท่าประเทศเขตหนาว

สำหรับในประเทศไทยนั้น โรคไข้หวัดนกก็ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ เพียงแต่ว่าผู้คนรู้จักมานานพอสมควร ทำให้เริ่มชิน และเริ่มมีการหาทางป้องกัน และล่าสุด มีโรคที่ระบาด และน่าจับตาอย่าง โรคมือ เท้า ปาก ที่มีสายพันธุ์ และไวรัสที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็จะมีโรคซาร์ส และไข้หวัดนก ที่ระบาดเข้ามาในไทย ทว่าโดยทฤษฎีแล้วก็จะมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ เพราะมีไวรัสอยู่ในสัตว์อีกมากมายที่ไม่รู้จัก และยังไม่ค้นพบ

“เราไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคที่อุบัติใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากโลกร้อนในประเทศเขตร้อน ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม แต่โดยสถานการณ์การเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ผ่านมา 10-20 ปีนี้ ก็จะมีการเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ ในอนาคตก็น่าจะเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน แต่ผลจากโลกร้อนก็น่าจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง แต่ที่น่าจะเกิดขึ้นนั้นคงจะอยู่ที่การระบาดของโรคเขตร้อนไปยังเขตหนาว ในส่วนของการรับมือนั้นบางประเทศ ที่เชื่อว่าน่าจะมีโอกาสระบาดของโรค เช่น ไข้เลือดออก ก็จะมีนักวิจัยที่เตรียมพร้อมในการพัฒนาวัคซีนด้านการป้องกันมากขึ้น โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมทางหนึ่ง แต่สำหรับในบ้านเราโรคเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว การพัฒนาวัคซีนก็มีการวิจัยมาโดยตลอด ซึ่งมีความก้าวหน้ามาเรื่อยๆ นักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยก็ตั้งหน้าตั้งตาที่จะพิชิตโรคเหล่านี้ให้ได้” ศ.นพ.ประเสริฐ ขยายความ

** โรคอุบัติใหม่..กับการแพร่เชื้อที่ “ยากจะคาดเดา”
ในส่วนของการเพิ่มจำนวนของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคตนั้น ศ.นพ.ประเสริฐ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา เพราะจะไม่มีทางรู้เลยว่าโรคอุบัติใหม่จะเกิดขึ้นตอนไหน จะรู้ก็ตอนที่เกิดโรคขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน วันดีคืนดีหากเกิดไวรัสตัวใหม่ขึ้นโดยไม่มีใครรู้ ก็จะเกิดขึ้นมาทันที อย่างไม่ทันป้องกัน แต่ที่เตรียมตัวกันทั่วไปคือการสร้างระบบการเฝ้าระวัง โดยในส่วนของสำนักระบาดและควบคุมโรค ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้มีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี หลังจากที่ต้องเผชิญกับโรคซาร์ส และ ไข้หวัดนก

หน้าที่ของระบบการเฝ้าระวังนี้นอกจากจะคอยระวังป้องกันการเกิดเชื้อแล้วนั้น ยังคอยมองหาโรคติดเชื้อแปลกใหม่ เมื่อเกิดขึ้นก็จะรู้ค่อนข้างเร็ว เพราะมีระบบการติดตาม การรายงานที่ดี เป็นสิ่งที่บ้านเราเตรียมพร้อมในการรับมือ แต่ก็ยังไม่ถึงกับพร้อม 100%

“ประชาชนควรเตรียมความพร้อมโดยการพยายามรับฟังข่าวสารการเกิดขึ้นของโรค ติดตามผลการระบาด ที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่เจ้าหน้าที่ หากพบการป่วย-ตาย ไม่ว่าสัตว์หรือคน ในลักษณะที่แปลกไปจากธรรมชาติ หรือไม่พบสาเหตุ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสของการเกิดโรคเหล่านี้ได้เสมอ ดังนั้น ประชาชนจึงอย่านิ่งนอนใจ ต้องรายงานให้กับโรงพยาบาล หรือแจ้งให้หน่วยงานเฝ้าระวังของ สธ.ทราบ ในส่วนของสัตว์ก็เช่นกันเพราะเมื่อสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่าตาย เราก็จะไม่ค่อยให้ความสนใจ ถ้ามีการตายที่ผิดปกติก็ควรจะแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบเช่นกัน”

มาถึงตรงนี้ ศ.นพ.ประเสริฐ ได้ฝากความมั่นใจทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ของไทยและประเทศในภูมิภาคเดียวกันนี้ถือว่ายังไม่เข้าขั้นวิกฤตในเรื่องของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ทั้งหมดนั้นเป็นการคาดการณ์จากสภาวะอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง แต่จากการที่โรคบางโรคอย่างไข้เลือดออกที่เริ่มแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เรื่องของโรคติดเชื้อนั้นยากต่อการทำนายการเกิด ซึ่งแตกต่างจากการทำนายสภาพดิน ฟ้า อากาศ
ดังนั้น ในไทยเรื่องโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มาจากโลกร้อนก็ยังไม่น่าตกใจแต่อย่างใด แต่ในแง่ของโรคอุบัติใหม่โดยรวมทั่วโลกนั้นเรื่องไม่คาดฝันก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ จึงต้องระวังอย่างถึงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น