xs
xsm
sm
md
lg

"สมชาย"เล็งแก้ระเบียบช่วยครูสอนเด็กพิการบรรจุเป็น ขรก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เสมา1” เล็งแก้ระเบียบช่วยครูสอนเด็กพิการ เพื่อช่วยให้สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ หลังพบทุ่มเทสอนเด็กพิการแต่สอบสู้ครูสอนเด็กปกติไม่ได้ ขณะที่ มสด.ปิดหลักสูตรศึกษาพิเศษ หลังติดข้อกฎหมายแนะรัฐบาลให้ทุนเรียนฟรี จูงใจนักศึกษาเป็นครูสอนเด็กพิเศษ

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ครูเฉพาะทางที่สอนเด็กที่มีความพิการทางร่างกาย มีจำนวนลดน้อยลง อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นครูอัตราจ้างและเมื่อมาสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการก็มักจะไม่สามารถแข่งขันกับครูอัตราจ้างที่สอนเด็กปกติได้ เพราะต้องทุ่มเทในการดูแลเด็ก แม้จะมีความสามารถและประสบการณ์ในการสอนเป็นอย่างดีก็ตาม ซึ่งจากการไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนโสตศึกษา จ.นครปฐม ผู้บริหารโรงเรียนเสนอว่า ควรจะพัฒนาครูอัตราจ้างที่ทำหน้าที่สอนเด็กพิการให้สามารถสอบและบรรจุเป็นข้าราชการครูได้โดยไม่ต้องสอบแข่งขันกับครูที่สอนเด็กปกติ ดังนั้นตนจะพยายามแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดช่องให้ครูอัตราจ้างที่สอนเด็กพิการ สามารถสอบบรรจุได้ ซึ่งตนได้มอบหมายให้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ไปหาแนวทางต่อไป

“ครูที่ทำหน้าที่สอนพิการจะต้องทุ่มเทและเสียสละอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำหน้าที่สอนหนังสือแล้ว ยังต้องดูแลนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งเป็นงานหนัก และส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ที่สถานศึกษาตั้งอยู่ ซึ่งตนจะพิจารณาหาทางในการดูแลหรือให้ผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมแก่ครูเหล่านี้ โดยให้อยู่ในเกณฑ์การพิจารณาตามระเบียบราชการ เช่น การประเมินวิทยฐานะ หรือกำหนดผลตอบแทนในรูปแพ็กเก็จพิเศษให้แก่ครูกลุ่มนี้ เป็นต้น” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายสุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2551 ทางมสด.ได้ปิดหลักสูตรการศึกษาพิเศษแล้ว โดยกำลังพิจารณาหลักสูตรดังกล่าวเพื่อที่จะเปิดสอนในระดับปริญญาโท เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดว่าผู้ที่จะสอนเด็กพิเศษจะต้องสำเร็จการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาโท จึงทำให้นักศึกษาที่จบในระดับปริญญาตรีหางานทำค่อนข้างยาก และในที่สุดก็เป็นบัณฑิตตกงานทั้งที่ปัจจุบันมีความต้องการนักศึกษาที่จบในสาขานี้มาก อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวขณะนี้หลายฝ่ายกำลังหารือ เพื่อที่จะแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวอยู่ ส่วนแนวทางที่รัฐจะสามารถสร้างครูการศึกษาพิเศษให้เข้าสู่วิชาชีพได้นั้น ต้องกำหนดให้เป็นสาขาขาดแคลน โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) และกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ก็ต้องพิจารณาปล่อยกู้ให้นักศึกษากลุ่มนี้ให้สอดคล้องกับการเป็นสาขาขาดแคลนด้วย นอกจากนี้รัฐบาลควรให้ทุนเรียนฟรีเพื่อจูงใจให้นักศึกษา เข้ามาเรียนในสาขาดังกล่าว พร้อมจัดหาอัตราข้าราชการบรรจุรองรับ อีกทั้งควรส่งเสริมด้านวิทยฐานะให้กับครูกลุ่มนี้ ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนให้กับเด็กพิเศษโดยเฉพาะด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น