รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการกรมควบคุมโรค อย.ศึกษาข้อมูลอันตรายและผลเสียของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และหารือผู้เกี่ยวข้องวางมาตรการป้องกันการนำเข้าจำหน่ายบุหรี่ชนิดนี้เป็นการด่วนเพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันเยาวชน วัยรุ่นตกเป็นเหยื่อบุหรี่ตัวใหม่ เนื่องจากมีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา 15 เท่า เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากกรณีที่มีบริษัทผลิตบุหรี่แห่งหนึ่งได้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่มีใบยาสูบ แต่มีสารนิโคตินและสารเคมีโพรไพลีนไกลคอลที่มีลักษณะคล้ายควันบุหรี่ โดยจะบรรจุในรูปแท่ง ควบคุมโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว และเทคโนโลยีอะตอม โดยใช้แบตเตอรี่สำหรับอัดไฟไว้ในเครื่องเพื่อใช้งานเมื่อเจ้าของต้องการสูบ โดยบุหรี่ดังกล่าวได้แพร่หลายไปทั่วโลกแล้วและเตรียมนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จากข้อมูลของบุหรี่ดังกล่าวพบว่าบรรจุนิโคตินแท่งละ 18 มิลลิกรัม ขณะที่บุหรี่ทั่วไป 1 มวนจะมีนิโคติน 1.2 มิลลิกรัม ซึ่งนิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์สูงเท่าฮีโรอีน และโคเคน เป็นสารที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังได้มีการใส่สารชูรส เช่น สารสังเคราะห์จากผลไม้ สมุนไพร และอื่นเข้ามาผสมด้วย และมีลักษณะพิเศษ คือ สูบแล้วไม่ทำให้ฟันเหลือง ไม่มีควัน
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่ว่านี้ นับเป็นภัยตัวใหม่ หากมีการนำเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะมีผลเสียต่อผู้ที่สูบแม้ว่าจะไม่มีควันออกมาก็ตาม แต่ปริมาณนิโคตินมีมากกว่าบุหรี่ทั่วไป หากสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 1 มวนจะเท่ากับสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 15 มวน ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาศึกษาข้อมูลและผลเสียบุหรี่ชนิดนี้ และหารือผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน เพื่อป้องกันการนำบุหรี่ดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพราะกฎหมายไทยที่มีอยู่ขณะนี้ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มีบทควบคุมบุหรี่ที่เป็นมวนยาสูบซึ่งมีสารนิโคตินเท่านั้น แต่ยังไม่มีบทบัญญัติควบคุมนิโคตินโดยเฉพาะ และกฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ก็ยังไม่มีบทบัญญัติควบคุมนิโคตินโดยเฉพาะเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อที่จะวางมาตรการป้องกันให้ครอบคลุมถึงบุหรี่ชนิดนี้ด้วย
นายไชยา กล่าวต่อว่า คาดการณ์ว่า กลุ่มตลาดที่บริษัทบุหรี่แห่งนี้จะนำเข้ามาในไทย คือ กลุ่มเยาวชนและวันรุ่นเนื่องจากวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่อยากรู้อยากลองของแปลกใหม่ ซึ่งจากข้อมูลวิชาการพบว่า ในการสูดสารนิโคติน (Nicotine) แต่ละครั้ง ร่างกายจะได้รับนิโคตินประมาณ 50 ไมโครกรัม ซึ่งสารนี้มีพิษร้ายแรง ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ในขณะสูบบุหรี่ระดับนิโคตินในเลือดจะเพิ่มสูงถึง 25-50 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่าตัวทั้งชายและผู้หญิง