หมอจุฬาฯ ชี้ ผ่าเพิ่มขนาด “องคชาต” ด้วยไหมละลาย ไม่ใช่เรื่องใหม่ แถมแค่ “ใหญ่” ชั่วคราว เตือนการผ่าตัดมีอันตราย เสี่ยงเน่าถึงขั้นตัดทิ้ง ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ผ่าตัดกับผู้มีปัญหาอวัยวะเพศเล็ก จนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ไม่จำเป็นก็ไม่ควรทำ แพทยสภา ระบุยังไม่มีมาตรฐานการแพทย์เพิ่มไซส์ชัดเจน ขณะที่อย.ระบุไหมละลายไม่เป็นอันตรายไม่ต้องขึ้นทะเบียน หรือขออนุญาตเพิ่มเติม
วันนี้ (26 พ.ค.) นพ.ศิรชัย จินดารักษ์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เทคนิคการผ่าตัดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชายด้วยการใช้ห่วงไหมละลาย ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มไฮโซขณะนี้ ไม่ถือว่าเป็นเทคนิคที่เพิ่งค้นพบใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากในต่างประเทศใช้วิธีผ่าตัดดังกล่าวมาหลายปีแล้ว ส่วนในประเทศไทยเริ่มให้บริการตามโรงพยาบาลเอกชน คลินิกมานานประมาณ 1 ปีกว่าแล้ว แต่ที่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เนื่องจากไม่มีการโฆษณาให้ประชาชนรับทราบ
“การผ่าตัดเพิ่มขนาด แม้จะช่วยให้เพิ่มขนาดอวัยวะให้ใหญ่ขึ้นได้จริง เพราะเซลล์ร่างกายสร้างเนื้อเยื้อเข้าไปแทรกซึมในห่วงไหมละลาย แต่ก็เพิ่มขนาดได้ชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้ สารที่ใช้เป็นตัวเพิ่มขนาดของอวัยวะเพศชายคือไหมละลายที่ใช้ในการผ่าตัด ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่ต้องมีการขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง” นพ.ศิรชัย กล่าว
นพ.ศิรชัย กล่าวต่อว่า การผ่าตัดทุกประเภทมีอันตรายทั้งนั้นหากเป็นการผ่าตัดไม่ถูกวิธี หรือใช้เทคนิคไม่ถูกต้อง รวมถึงการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ต้องระมัดระวังเพราะห่วงไหมละลายที่สวมใส่ในองคชาต ถือเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าร่างกาย หากผ่าตัดผิดวิธีทำให้มีโอกาสติดเชื้อ ทำให้เนื้อหรือหนังขององคชาติอักเสบ และเน่าจนต้องตัดเนื้อทิ้ง อาจทำให้สูญเสียหนังหุ้มอวัยวะองคชาตได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการผ่าตัดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชายมีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน โดยการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้รับบริการ ทั้งนี้ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การผ่าตัดเพิ่มขนาดองคชาตมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่มีอวัยวะเพศเล็กมากจนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เท่านั้น
“ฝากเตือนผู้ที่สนใจจะรับบริการผ่าตัดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และศึกษาผลดีผลเสียของการผ่าตัดให้ดีก่อนตัดสินใจ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าจะได้ประโยชน์จากการผ่าตัดเพิ่มขนาด แต่เมื่อผ่าตัดแล้วอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างที่ตั้งใจไว้ ซึ่งบางรายที่โชคร้ายอาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้อวัยวะเพศไม่สามารถใช้งานได้อีกเลยก็ได้” นพ.ศิรชัย กล่าว
ด้าน นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนการผ่าตัดด้วยเทคนิคดังกล่าวเข้ามายังแพทยสภาแต่อย่างใด เพราะถือเป็นเทคนิคค่อนข้างใหม่ และยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก หากผู้ใดมีข้อมูลสามารถแจ้งมาได้ที่แพทยสภาได้ทันที อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชายให้ใหญ่ขึ้นในทางการแพทย์ถือว่ายังไม่มีมาตรฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจน ไม่เหมือนกับผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งอื่นๆ
“สำหรับผู้ที่มีอวัยวะเพศปกติการผ่าตัดเพิ่มขนาดไม่ได้ช่วยให้การมีเพศสัมพันธ์ดีขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้มีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ยืนยันแล้ว เพราะการมีเพศสัมพันธ์ที่ดีต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ใช่เรื่องขนาดเพียงอย่างเดียว หากอวัยวะเพศไม่มีปัญหา จนถึงกับไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ก็ไม่แนะนำให้ทำอย่างเด็ดขาด” นพ.อำนาจ กล่าว
ด้านนพ.ชาตรี บานชื่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ไหมละลายถือเป็นเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่มีการใช้แพร่หลายในสถานพยาบาลอยู่แล้ว และมีการขึ้นทะเบียนตามปกติ แม้จะมีการดัดแปลง หรือพัฒนาให้เป็นอุปกรณ์ชนิดใหม่ มีคุณสมบัติมากกว่าการเชื่อมบาดแผล ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตเพิ่มเติม เพราะไหมละลายเป็นสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคือเมื่ออยู่ในร่างกายคนแล้วสามารถละลายได้เอง ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด