xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก 1 ปีการจากไป “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปกหนังสือซึ่งแสดงภาพประวัติศาสตร์ถ่ายเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2495 ขณะที่ตำรวจนำท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังข้อหาขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร
“ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเป็นภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบาก เนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้าคุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย” ปรีดี

นี่คือ ข้อความบางส่วนจากจดหมายของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึง ท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยาผู้อยู่เคียงข้างทั้งยามสุขและยามทุกข์ ซึ่งอักษรปรากฏในหนังสือ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์” ด้วยลายมือของรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อรำลึกถึง 1 ปีการจากไปของ “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมพยงค์” ที่ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในค่ำคืนวันที่ 11 พฤษภาคมปี 2550
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
หนังสือเล่มนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวัน ปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 11 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดบทบันทึกช่วงชีวิตอันยาวนานของท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งจะทำให้ผู้ได้อ่าน สัมผัสรับรู้และตระหนักได้ว่า ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งมีหลักการใช้ชีวิตและคิดอย่างไร บุคคลที่ถือว่าเป็นเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นคนรุ่นใหม่ควรจะถือเอาอะไรไปใช้ในชีวิตต่อไปได้

อาจารย์วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ บุตรสาวและในฐานะบรรณาธิการหนังสือ บอกว่า ที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้มาจากคำสั่งเสียถึงลูกซึ่งเขียนด้วยลายมือข้อหนึ่ง ระบุว่า ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น โดยกว่า 423 หน้ากระดาษบรรจุข้อเขียนที่กลั่นกรองจากชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยตัวท่านเอง บางส่วนเป็นบทสัมภาษณ์ บางส่วนเป็นบทบันทึกประจำวันตั้งแต่ปี 2488 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และมีส่วนที่เป็นจดหมายระหว่างปรีดี และพูนศุข ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ส่วนตามรอบอายุนักษัตรของท่านผู้หญิงเป็นตัวแบ่ง

“เมื่อท่านครบรอบ 95 ปี ก็ได้ปรารภว่า ชีวิตของท่านผ่านมาเกือบครบ 8 รอบ ก็อยากให้เก็บรวบรวมช่วงชีวิตของท่านซึ่งก็มีอะไรที่แตกต่าง เพราะบางครั้งก็อยู่ในต่างประเทศ เป็นสิ่งที่หายากสำหรับลูกหลานและสาธารณชนที่สนใจจะได้รู้เรื่องด้วย”

อาจารย์วาณี บอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่ครอบครัวพนมยงค์ ภาคภูมิใจไม่ใช่การร่ำรวยทรัพย์สิน หากแต่ความมั่งมีด้วยคุณค่าแห่งการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการเป็นคนซื่อสัตย์ อดออม อดทน และกล้าหาญที่จะต่อสู้กับสิ่งอธรรม โดยสิ่งที่ยึดถือมาตั้งแต่รุ่นรัฐบุรุษอาวุโสคือ ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมและ การทำความดีย่อมไม่สูญหาย หลายคนรู้จักประวัติ ผลงานของนายปรีดี แต่หากไม่มีคนที่อยู่เคียงข้างคอยให้กำลังใจ ร่วมฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ท่านจะเป็นรัฐบุรุษอาวุโสย่อมไม่ได้ ซึ่ง “ไม่ขอรับเกียรติใดๆ ทั้งสิ้นฯ” จะทำให้รู้จักตัวตนอันแท้จริงของผู้หญิงที่เป็นเสี้ยวตำนานของการเมืองไทยในนาม “พูนศุข พนมยงค์” ได้เป็นอย่างดี

ด้าน ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นหลังจากอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวว่า รู้สึกภูมิใจขณะเดียวกันก็เศร้าสะเทือนใจไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะภาษาที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่มีความจริงซ่อนอยู่นั้น ยิ่งทำให้ผู้อ่านแทบจะไม่มีคำถามขึ้นเลยว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ หรือ

“อ่านไปร้องไห้ไป มันเป็นเรื่องราวที่ปรากฏและเป็นจริง เวลาที่เราอ่านนวนิยายเราอินกับตัวละคร เรารู้สึกว่านางเอกทุกข์ทรมาน แต่เราก็รู้ว่านางเอก รู้ว่าคนเขียนแต่งขึ้น และสร้างโลกมายาให้สะเทือนใจ แต่หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องจริง คนจริงๆ มีชีวิตจริงๆเวลาอ่านไม่ต้องถามไม่มีคำถามว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นหรือไม่ จะสะเทือนใจกว่าเรื่องแต่งเป็นไหนๆ ดิฉันเห็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งที่ต่อสู้อย่างชนิดที่เรียกว่าเกินจะพรรณนา และสำนวนที่ท่านเขียนจะไม่มีพรรณนาโวหาร มีคำไม่กี่คำในเล่มนี้สามารถเรียกน้ำตาได้”

ในส่วนที่เป็นความเศร้า ความภูมิใจปรากฏผ่านตัวหนังสือที่เรียบง่าย ตัวอย่างบางตอนที่สะเทือนใจที่สุดในมุมมองผู้อ่าน คือ หน้า 203 ตอน เมื่อข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ หน้า 208 ตอน คุณปาลถูกจับ และหน้า 211 ตอน ท่านถูกจับ ข้อความ
ตอนหนึ่งในบันทึกระบุว่า “ข้าพเจ้านั่งรถมากับปานและผู้ต้องหาในคดีกบฏสันติภาพ และข้าพเจ้ามาส่งปานได้แค่หน้าประตูเรือนจำลหุโทษ เรือนจำแห่งนี้กับเรือนจำบางขวางที่คุมขังปานกับผู้ร่วมชะตากรรมเป็นเวลากว่า 5 ปี เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น
กับนายปรีดีกับข้าพเจ้ากับลูกนั้น สุดที่ข้าพเจ้าจะอดทนได้อีกต่อไป ข้าพเจ้ารู้สึกบอบช้ำทางร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมากจึงได้ตัดสินใจไปประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดินเมษายน 2496 ก่อนออกเดินทางข้าพเจ้าได้ไปลาปาลที่ศาลอาญา”


ชมัยภร บอกว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย เป็นผู้เห็นและสังเกตเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายยุค ชีวิตที่มีทั้งขึ้นและลง ผกผันเข้าไปทั้งในด้านมืดและมียุคที่เจิดจรัสไสว เมื่อได้อ่านส่วนที่ดี ช่วงชีวิตที่แม่เล่าถึงลูก ผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะภรรยาก็จะยิ้มไปด้วย แต่เมื่อถึงจุดที่หญิงผู้นี้จะแกร่งเพื่อต่อสู้กับปัญหาและชะตากรรมที่พลิกลงอย่างสาหัสก็ทำให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ กระนั้นในความเป็นท่านผู้หญิงพูนศุขแม้จะพบเจอสิ่งต่างๆ มากว่า 95 ปีท่านก็ไม่เคยพูดอหังการในความเป็นสายตระกูลและไม่เคยพูดแค้นเคืองใครที่กระทำตลอดมา

“เราจะสังเกตว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่ผ่านทั้งด้านมืดและสว่าง แต่ท่านก็ไม่เคยเอาเหตุการณ์เหล่านี้มาทำให้ชีวิตของท่านตกต่ำหรือหมดคุณค่า ท่านสามารถบริหารอารมณ์ลบและบวกที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่านได้ดีและสมดุลที่สุดทำให้ท่านยืนอยู่บนสังคมไทยได้อย่างสง่างามมาก เป็นหนังสือที่คนรุ่นใหม่น่าจะได้อ่านและดื่มด่ำกับความจริงที่เกิดในประวัติศาสตร์” นายกสมาคมนักเขียนไทยแจกแจง

ทั้งนี้ การที่ท่านยืนหยัดสง่างามได้อยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แสดงว่า ท่านไม่หลงในสิ่งที่เป็นบวก และท่านไม่แพ้ในสิ่งที่เป็นลบ นั่นคือท่านผู้หญิงพูนศุข พยมยงค์

ขณะที่ ดร.ปรีชา สุวรรณฑัต กรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวในตอนหนึ่งในงาน “110 ปีปรีดี พนมยงค์” ว่า สองท่านนี้แยกจากกันไม่ออก ความสูญเสียแห่งชีวิตของท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขได้ประจักษ์แล้ว แต่ความสูญสิ้นไม่ประจักษ์ เพราะร่องรอยแห่งคุณงามความดีที่สองท่านได้ทิ้งไว้เป็นคุณต่อเมืองไทยอย่างมาก
สำหรับใครที่ต้องการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว สามารถซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น