xs
xsm
sm
md
lg

“คุณหญิงหมอ” เผยห่วงศพนาร์กีสเกิน 7 วัน พิสูจน์ยาก เผยพร้อมเป็นกำลังหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
“หมอพรทิพย์” ระบุศพเสียชีวิตเกิน 7 วัน ยิ่งพิสูจน์ลำบาก กังวลพม่าไม่มีเครื่องมือ บริหารจัดการศพยาก พร้อมเป็นกำลังหนุนเข้าให้ความช่วยเหลือ


พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่ได้ทำงานตรวจพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิมาก่อน สิ่งที่น่ากังวลในพม่าขณะนี้ คือ การบริหารจัดการศพจะเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ในการดูแลรักษาศพ เช่น ตู้แช่คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก แต่เมื่อพม่าไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม จึงจัดหาอุปกรณ์ไม่ได้ รวมทั้งกำลังกระแสไฟฟ้าที่จำเป็นต้องใช้อาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จะจัดเก็บอย่างไร หากขาดสิ่งเหล่านี้
ภาพถ่ายวันที่ 11 พ.ค.2551 -- ครอบครัวเดียวกัน 4 คนกลายเป็นศพลอยน้ำใกล้กับเมืองเดะเด (Dedaye) ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีกลับจากที่นั่นรายงานว่าพบศพหลายสิบศพในแม่น้ำกับอีกหลายสิบตามท้องนาปะปนกับซากสัตว์เลี้ยงที่มีเกลื่อนกลาดระหว่างทาง ผู้คนผ่านไปมาเป็นปกติ ทุกคนต้องเอาตัวรอด (ภาพ: AFP)
“จะต้องดูว่าพม่าจะเข้าบริหารจัดการอย่างไรกับศพ ซึ่งจะพิสูจน์ลำบากมาก หากเสียชีวิตเกิน 7 วัน เพราะศพจะเน่าเปื่อยจนแทบพิสูจน์ไม่ได้ อีกทั้งสภาพอากาศช่วงฤดูฝน ที่น้ำท่วมขัง ศพมีการเคลื่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ยิ่งพิสูจน์ยากลำบาก แม้แต่การตรวจพิสูจน์นิ้วมือก็ลำบากอาจต้องตรวจโดยใช้ฟัน กระดูก ดีเอ็นเอ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อจำกัดของทางการพม่าที่แม้ว่าอยากที่จะดูแลจัดการศพผู้เสียชีวิตด้วยเหมือนกัน แต่คิดว่าพม่าไม่อยากให้ต่างชาติเข้าไป แม้จะต้องการความช่วยเหลือ จึงไม่รู้ว่าพม่าจะให้ต่างชาติเข้าไปมากน้อยแค่ไหน” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวด้วยว่า การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลค่อนข้างมีกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งทำโดยกาชาดสากล และดีวีไอใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์ ซึ่งในเหตุการณ์สึนามิประเทศไทย รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ยังมียอดผู้สูญหายหลายร้อยคน และศพที่ไม่มีญาติมารับอีกกว่า 600 ศพ ส่วนใหญ่สันนิษฐานเป็นแรงงานพม่าผิดกฎหมาย ฉะนั้น สถานการณ์ในพม่ายิ่งลำบาก เพราะไม่มีระบบการจัดเก็บที่ดี ในส่วนของไทยหากพม่าขอความช่วยเหลือ ทีมของตนที่มีอยู่ประมาณ 20 คน ก็พร้อมเข้าเป็นกำลังเสริมร่วมพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลกับทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กำลังโหลดความคิดเห็น