xs
xsm
sm
md
lg

120 ปี ศิริราช โรงพยาบาลของแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กว่า 100 ปี ที่ชาวไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช ให้เป็นที่พึ่งพิงยามมีโรคภัยมาเบียดเบียน

“ศิริราช” ที่ซึ่งใครหลายคนต่างรู้ถึงคุณค่าของคำว่า “มิตร” ถือกำเนิดจากเหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ. 2424 ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวบริเวณที่ชุมชนรวม 48 ตำบล และได้ปิดทำการเมื่อโรคร้ายเสื่อมถอยลง แต่ในพระราชหฤทัย ทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลนั้นยังประโยชน์บำบัดทุกข์ของราษฎรได้

ในเวลาต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสในพระองค์ อันประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรด้วยโรคบิดสิ้นพระชนม์ลง ในครั้งนั้นยิ่งทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะให้มีโรงพยาบาลขึ้น ครั้นเสร็จงานพระเมรุ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานนำไปสร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณวังหลัง นอกจากนี้ยังพระราชทานทรัพย์ส่วนของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์แก่โรงพยาบาลด้วย

ครั้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดและพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” โดยทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย และทุก ๆ วันที่ 26 เมษายนของทุกปี จึงถือเป็นวันคล้ายวันพระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของแผ่นดินที่มีอายุยืนยาวที่สุด

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 จึงบังเกิดการสานต่อพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่สืบมาทุกรัชสมัย ทุกรัชกาล ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือในการพัฒนาศิริราช อาทิ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วเสด็จกลับมาทรงงานที่โรงพยาบาลศิริราช ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างมากต่อศิริราชและวงการแพทย์ไทย อาทิ ทรงติดต่อประสานงานกับมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ นำความช่วยเหลือต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาศิริราชให้เจริญรุดหน้ามากขึ้น

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ศิริราชก็ไม่ได้หยุดนิ่ง หากแต่พัฒนาบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ให้ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน จนได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ ผ่านการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA) จากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) 3 ครั้ง พ.ศ.2546 2548 และ 2550 รางวัลชนะเลิศ The winner as the most outstanding project in the Human Resource Development Project category สำหรับโครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) และรางวัล An Excellence

Awardee in the Customer Service Category สำหรับ The Heart by Siriraj ในงาน Asian Hospital Management Awards 2007 จากการส่งโครงการเข้าประกวดเป็นครั้งแรกในจำนวน 282 โครงการ 75 โรงพยาบาล 17 ประเทศ

และสำหรับการพัฒนาต่อไปในช่วง 5 ปี นับจากปี พ.ศ. 2551 ปีที่ 120 นี้ ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ศิริราชพร้อมที่จะก้าวสู่ความเป็นเลิศด้วยโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ (Excellence Center) ณ บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) โดยมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทยมีสถาบันทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาชาติ ทั้งด้านวิจัย การศึกษา และการบริการ

คงมีใครอยากรู้... ทำไมผู้คนถึงหลั่งไหลมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

ประภัสสร จตุโพธิ์ แม่บ้าน
“เพื่อนๆ แนะนำให้มาฝากท้องที่ศิริราช ซึ่งก็ไม่ผิดหวังทั้งหมอ และพยาบาล รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้แม่ลูกปลอดภัย ทั้งรู้ว่าน้องนวฤกษ์มีปัญหาเกล็ดเลือดต่ำโดยติดผ่านรกแม่มา จึงรับการรักษาต่อที่ศิริราช ซึ่งตอนนี้น้องอายุได้ 3 เดือน และผลการตรวจร่างกายครั้งนี้ พบว่าน้องหายดีแล้ว รู้สึกดีใจและชัวร์สุด ๆ สำหรับศิริราชค่ะ”

สมบัติ พ่วงเจริญ อดีตเจ้าหน้าที่ กสท
“ผมป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกหลังเกษียณอายุเพียงวันเดียว ดีที่เพื่อนบ้านมาส่งและบอกให้ภริยารีบพาไปรักษาที่ศิริราช ที่นี่ทำให้ผมเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้งทั้งหมอและพยาบาลต่างเอาใจใส่และให้การรักษาอย่างเต็มที่ จนอาการทั่วไปเกือบหายเป็นปกติ จะมีก็แต่หมั่นทำกายภาพบำบัด ซึ่งก็ดีวันดีคืน ต้องขอบคุณโรงพยาบาลศิริราชที่ทำให้ผมและครอบครัวได้อยู่กันอย่างมีความสุขอีกครั้ง”

จิราวรรณ บุญญกานนท์ ผู้สูงวัย
“หมอที่นี่เขาเก่ง ลูกสาวพาฉันมารักษาโรคสมองฝ่อได้ปีกว่าแล้วที่คลินิกความจำ วันนี้หมอบอก “คุณยายดีขึ้นมาก ขาดอีก 2 คะแนน แบบทดสอบความจำก็ได้คะแนนเต็มแล้วครับ” ฉันมาที่นี่ เพราะศิริราชมีชื่อเสียงด้านการรักษา เครื่องไม้เครื่องมือก็พร้อมไม่เหมือนต่างจังหวัดที่ฉันอยู่ ลูกฉันก็พอใจที่แม่อาการดีขึ้น”

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่ “ศิริราช” เป็นผู้ “ให้” ชีวิตใหม่แก่ผู้คนที่แวะเวียนเข้ารักษา แม้วันคืนจะเปลี่ยนผัน แต่ศิริราชยังคงตระหง่านเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่ทอดเงาให้ผู้คนได้พักอาศัย เป็นความผูกพันที่เนิ่นนานและแนบแน่นอย่างไม่มีวันจางนับแต่พระปิยมหาราชการุณย์


ชวนร่วมกิจกรรม 120 ปี รพ.ศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เชิญชวนประชาชนร่วมงานสัปดาห์วันคล้ายวันพระราชทานกำเนิด รพ.ศิริราช ครบรอบ 120 ปี” ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2551 ณ โรงพยาบาลศิริราช

• ห้องพิณพากย์พิทยาเภท ตึก 72 ปี ชั้น 1 ชมวีดิทัศน์สื่อประสม เฉลิมพระเกียรติ “ทวาทศทศวรรษศิริราช ...ปฐมบทโรงพยาบาลของแผ่นดิน” นำโดย ดวงดาว จารุจินดา มนตรี เจนอักษร นุติ เขมะโยธิน เวลา 09.00 - 09.30 น. และ 11.30 น. - 12.00 น. พร้อมฟังเสวนาให้ความรู้ (29 เม.ย. – 2 พ.ค.) เวลา 09.30 – 11.30 น. อาทิ “วัฒนธรรมกับการบริหารงาน” โดย สีหพันธุ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ภารณี วัฒนา

• ศาลาศิริราช 100 ปี ชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทวาทศทศวรรษศิริราช ...ปฐมบทโรงพยาบาลของแผ่นดิน” และนิทรรศการภาพถ่าย ภาพวาดที่ชนะการประกวด “เฉลิมฉลอง120 ปี ศิริราช” บริการถ่ายภาพแสตมป์ส่วนบุคคล ทัวร์พิพิธภัณฑ์พร้อมนำชม 120 ชิ้นเอกศิริราช จำหน่ายเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 120 ปี ศิริราช และรับขวัญทารกน้อยที่เกิด 26 เม.ย. ( 28 เม.ย. 14.00 น.)

• โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์
กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความรู้พร้อมออกบู๊ธอาหารสุขภาพ ทดสอบสมรรถภาพทางกาย นวดแผนไทย รับบริจาคเลือด และจำหน่ายยาตำรับศิริราช

• ห้องสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G ประมูลภาพช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส

นอกจากนี้ยังเปิดให้สั่งจองหนังสือ 120 ชิ้นเอกศิริราช และเหรียญที่ระลึก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ ศิริราช โทร. 0 2419 7646 – 50
ประภัสสร  จตุโพธิ์
สมบัติ  พ่วงเจริญ
จิราวรรณ   บุญญกานนท์
สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์
ศิริราชผ่าตัดแยกตับหัวใจแฝดสยามคู่แรกของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น