xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้เด็กไทยเข้าสู่ยุควิกฤต “ลอกคราบ” สู่ยุวอาชญากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการด้านสังคมชี้ เด็กไทยเข้ายุค “ลอกคราบ” เป็นเด็กพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ยุวอาชญากร เผยมีความเสี่ยงเรื่องเพศและความรุนแรงมากขึ้น อีก 10 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่ยุคตัวใครตัวมันอย่างแท้จริง

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านสังคม เปิดเผยในรายการวิทยุ “สังคมพิพากษ์” ถึงปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศและเด็กละเมิดทางเพศเด็กว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งเรื่องเก่าและใหม่และบางเรื่องรุนแรงมากขึ้น รวมความแล้วอยากเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กไทยยุค “ลอกคราบ” เพราะเคยมีงานวิจัยหลายชิ้น แล้วคาดการณ์ว่าต่อไปเด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กไทยพันธุ์ใหม่และจะกลายเป็นยุวอาชญากร ใกล้เข้าสู่เป็นปัญหาและมีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ไม่มีใครออกมาหามาตรการหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จนในที่สุดเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นเยาวชนที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และมีเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

“ผมคิดว่าเด็กกลุ่มนี้คล้ายๆ กับลอกคราบและโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่และเยาวชนที่มีพื้นฐานเรื่องเพศ ความรุนแรง และการเสพสื่อเข้ามาเกือบทุกคน ดังนั้น ในสังคมที่ไม่ได้คำนึงเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมต่างๆ ไปดูแต่เรื่องความสุข แสดงออก ความสนุกสนาน เลยสุกเต็มที่จากเด็กกลายเป็นเยาวชน และที่น่าตกใจมากคือสถานการณ์ทางเพศกินไปในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยลงตามลำดับ แม้กระทั่งคนที่เป็นอาจารย์ยังทำในเรื่องพิลึกๆ แสดงว่าต้นทุนทางสังคมขณะนี้กร่อนมาก ไม่มีใครพูดถึงวัฒนธรรมศีลธรรมอันดีแล้ว ผมเคยคาดการณ์ไว้ว่าถ้าสังคมยังเป็นแบบนี้คงถึงยุคสังคมตัวใครตัวมัน และตอนนี้ก็ใกล้เคียงแล้ว ไม่แน่ว่าถ้าปล่อยไว้อีก 10 ปีเราจะเข้ายุคตัวใครตัวมันอย่างแท้จริง” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวด้วยว่า ทางออกที่พอจะมีทางเป็นไปได้คือต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังไม่หย่อนยาน เช่น การเข้าถึงร้านอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันเด็กใช้เวลาเข้าถึงได้เพียง 5 นาที และข้อมูลร้านเกมอินเทอร์เน็ตขณะนี้มีประมาณ 30,000 ร้าน เท่ากับจำนวนโรงเรียนแล้ว ดังนั้น ช่วงปิดเทอมทั้งปีที่เด็กมีเวลาว่าง 90-120 วัน หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเด็ก ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง ต้องออกแบบโปรแกรมหรือกิจกรรมดีๆ จัดพื้นที่ดีให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญหน่วยงานที่มีงบประมาณด้านเด็กทั้งรัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะตนพบว่างบทั้งหมดที่มีถูกใช้ได้ประโยชน์ไม่ถึงร้อยละ 50 และลงถึงตัวเด็กจริงเพียงแค่ร้อยละ 10
กำลังโหลดความคิดเห็น