xs
xsm
sm
md
lg

ส่อเค้าถังแตก! โครงการฟันเทียมพระราชทาน สปสช.ลดงบช่วยเหลือ 30 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.- สปสช.ถกเจียดงบโครงการฟันเทียมพระราชทาน 28 เม.ย.นี้ หลังส่อเค้าร่อแร่ เหตุไม่มีงบดำเนินการ สปสช.ลอยแพ อ้างทำแผนจัดสรรงบประมาณเสนอไปก่อนหน้าแล้ว ระบุยินดีช่วยต่อแต่ขอลดขนาดโครงการ หั่นงบจากปีละ 180 ล้านเหลือ 30 ล้าน คณะทำงานวิ่งฝุ่นตลบหาเงินช่วยผู้สูงอายุ เผยต้องใช้เงินบริจาค เงินกองทุนฟันเทียมโปะ

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการฟันเทียมพระราชทานให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2550 ที่จะดำเนินการต่อเนื่องอีก 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551-2553 โดยตั้งเป้าใส่ฟันปลอมให้ผู้สูงอายุอีก 9 หมื่นรายนั้น กำลังประสบปัญหาด้านงบประมาณในการดำเนินโครงการ เนื่องจากเดิมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมสนับสนุนโครงการในช่วงการดำเนินโครงการระยะแรกปีละ 180 ล้านบาทนั้น ไม่ได้สนับสนุนโครงการต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ เพราะในช่วงที่นพ.มรกต กรเกษม อดีต รมช.สธ.ตัดสินใจสานต่อโครงการดังกล่าวในช่วงเดือนกันยายน ปี2550 ซึ่งเป็นช่วงแต่ละหน่วยงานได้ตั้งของบประมาณไว้หมดแล้ว ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นปัญหาว่าโครงการดังกล่าวจะได้หางบประมาณมาจากแหล่งใด ซึ่งในการประชุมผู้บริหารสธ.ในวันที่ 28 เม.ย.นี้จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเป็นโครงการที่ดี ประชาชนได้ประโยชน์

“เมื่อเป็นดำริของผู้บริหารฝ่ายผู้ปฏิบัติงานก็เดินหน้าโครงการต่อไป แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายทราบเพียงว่าโครงการดีๆ แบบนี้ยังอยู่ ก็ตั้งหน้าตั้งตาช่วยเหลือผู้สูงอายุใส่ฟันเทียมให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยดำเนินการมา 6 เดือนแล้ว แต่งบประมาณกลับเบิกไม่ได้ ทุกวันนี้ดำเนินการด้วยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งหากต้องการจะดำเนินการตามเป้าหมายปีละ 3 หมื่นรายคงไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะการดำเนินการใช้งบประมาณสูง ทำฟันเทียมทั้งปากมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4 พันบาท ดังนั้นหากขาดงบประมาณ ก็กระทบต่ออุปกรณ์และเครื่องมือ ฯลฯ”แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เมื่อต้นเดือน เม.ย.คณะอนุกรรมการด้านงบประมาณส่งเสริมและป้องกันโรคของ สปสช.ที่มีนพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานได้สรุปผลว่า สปสช.ไม่ได้ตั้งงบประมาณมาเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่สามารถสนับสนุนโครงการได้ แต่ได้เสนอแนะให้สธ.ปรับลดโครงการดังกล่าวเหลือปีละ 30 ล้านบาท สปสช.ก็พอที่จะจัดสรรงบประมาณมาร่วมสนับสนุนได้บ้าง

“หาก สธ.ลดขนาดโครงการดังกล่าวลงเหลือ 30 ล้านบาทต่อปี เท่ากับจะสามารถใส่ฟันเทียมให้คนชราได้เพียงปีละ 5 พันรายเท่านั้น จากที่ตั้งเป้าไว้ในช่วงการรณรงค์ปีละ 3 หมื่นราย ซึ่งเหมือนกับทุกปีที่ไม่มีโครงการ ดังนั้นถือว่าเป็นการป้องกันโรคและเยียวยาให้กับผู้สูงอายุด้วย จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนเสียประโยชน์อย่างมาก”แหล่งข่าว กล่าว

ด้าน นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานอนุกรรมการด้านงบประมาณส่งเสริมและป้องกันโรค สปสช.กล่าวว่า โครงการฟันเทียมพระราชทานเป็นโครงการที่ดี และเห็นด้วยที่โครงการดังกล่าวจะดำเนินการต่อไป เพราะเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุอย่างมาก แต่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการของ สธ.ไม่ใช่ของ สปสช.อีกทั้ง สปสช.เพิ่งทราบว่า สธ.จะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อเนื่องเป็นเฟส 2 อีก 3 ปี ในช่วงที่ สปสช.ได้ทำแผนของบประมาณและได้รับการจัดสรรแล้ว ดังนั้น สปสช.จึงไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้เลยจึงไม่มีงบประมาณในการสนับสนุนโครงการตามที่ สธ.ตั้งเป้าไว้ปีละ 180 ล้านบาท

“มาถึงตอนนี้มันไม่ทันแล้ว จะให้ สปสช.ไปเจียดงบประมาณจากส่วนอื่นก็คงไม่สามารถทำได้ เพราะงบประมาณด้านการส่งเสริมและป้องกันโรค อย่างวัคซีนของทารกแรกเกิด หรือยาต้านไวรัสเอดส์นั้นก็ไม่สามารถไปเจียดงบประมาณมาเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ได้เลย และที่ผ่านมา สปสช.ก็ช่วยๆ สธ.มาโดยตลอด แต่ตอนนี้ สธ.ไม่มีเงินมาขอ สปสช.ซึ่ง สปสช.ก็ไม่ได้จะใจร้ายแต่เมื่อไม่มีงบประมาณจริงๆจะทำอย่างไรได้ สธ.คงต้องนำไปพิจารณากันเองว่าจะอย่างไร เพราะเป็นโครงการที่ สธ.รับผิดชอบ โดยเฉพาะที่ผู้ปฏิบัติงานที่ทำไปแล้วกว่า 6 เดือนด้วย” นพ.ยุทธ กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบข้อสรุปอย่างเป็นทางการจากทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า จะสามารถเจียดงบประมาณในการสนับสนุนโครงการฟันเทียมพระราชทานได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ประกอบกับสปสช.มีการขยายบริการด้านสุขภาพคลอบคลุมมากขึ้น ทั้งเปลี่ยนและล้างไตให้กับผู้ป่วยไตวายและการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้สูงอายุ จึงไม่มีเงินสนับสนุน ในปีนี้จึงไม่มีการตั้งงบประมาณในโครงการดังกล่าว นอกจากนี้เดิมที่ สปสช.มีนโยบายกันเงินส่วนกลางเพื่อใช้สำหรับปัญหาเร่งด่วน แต่ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวยกเลิกไปเนื่องจากไม่อยากให้เงินกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง จึงกระจายลงไปยังจังหวัดต่างๆ เมื่อเสนอของบประมาณจึงไม่มีงบให้ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายโครงการใส่ฟันเทียมพระราชทานให้ผู้สูงอายุต่อไปอีก 3 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2553 เป้าหมาย 90,000 รายทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 540 ล้านบาท โดยเสนอขอใช้งบประมาณปีแรก 150-180 ล้านบาท ดังนั้น หากไม่มีงบประมาณสนับสนุนก็เตรียมหางบประมาณจากส่วนอื่นๆ ไว้รองรับ โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยให้งบประมาณสำหรับใส่ฟันเทียมรายละ 4,100 บาท รวมทั้งบริษัทเอกชนที่ร่วมสนับสนุนอีกหลายร้อยราย นอกจากนี้ยังมีเงินจากกองทุนฟันเทียมพระราชทานที่ได้จากการทอดผ้าป่าอีกด้วย

“ถ้า สปสช.ไม่มีเงินจริงๆ ก็จะมีเงินจากสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งการใส่ฟันเทียมเป็นความต้องการของแต่ละพื้นที่ และหากเชื่อว่าเรื่องนี้มีความสำคัญก็น่าจะมีการจัดสรรหาประมาณมาให้ ซึ่งถือเป็นทางออกหนึ่ง แต่มั่นใจว่า สปสช.น่าจะ เจียดงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุนได้ เพราะมีงบตามชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ ซึ่งการที่มีปัญหาอุปสรรคเรื่องงบประมาณ จะทำให้ผู้ที่มารอรับบริการต้องใช้เวลานานกว่าเดิม”นพ.โสภณ กล่าว

อนึ่งโครงการฟันเทียมพระราชทานฯระยะแรก ดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2548-2550 ใช้งบประมาณรวม 540 ล้านบาท ทำให้สามารถใส่ฟันให้ผู้สูงอายุได้ 9.4 หมื่นราย จากการสำรวจของกรมอนามัยพบว่ามีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยประมาณ 7 ล้านคน และมีผู้สูงวัยที่ไม่มีฟันอยู่ประมาณ 5.6 ล้านคน ที่ผ่านมามีการช่วยเหลือไปบ้าง แต่ยังมีผู้สูงอายุที่ยังไม่มีฟันและต้องการใส่ฟันเทียมหรือฟันปลอมทั้งปากราว 3 แสนคน

ทั้งนี้ จากผลการประเมินผลพบว่าโดนใจผู้สูงอายุมากเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น 83% พูดชัดขึ้น พอใจในความสวยงามของใบหน้า ทำให้ชีวิตมีความสุข ทานอาหารได้ดีขึ้น เข้าสังคมได้อย่างมั่นใจ โครงการเกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุเป็นอันมาก สธ.จึงได้ขยายโครงการต่อไปอีก 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2551-2553 อีกจำนวน 9 หมื่นราย มั่นใจว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการผู้สูงอายุจะมีฟันใช้เคี้ยวอาหารอย่างเหมะสมร้อยละ 50
กำลังโหลดความคิดเห็น