พบด้วงชนิดใหม่ในโลกที่ป่าเขาสอยดาว ชี้ด้วงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ป่า หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า ด้วงอาจสูญพันธุ์
นายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ นักกีฏวิทยา 7 ว. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบด้วงชนิดใหม่ในโลกที่ป่าแถบตะวันออกของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขาสอยดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนและเขาคิชกูฎ ซึ่งได้มีการจัดส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านด้วงจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ประเทศญี่ปุ่น ตรวจสอบแล้ว พบว่า จำนวน 3 ชนิด จาก 105 ชนิด ที่เก็บตัวอย่างได้จากพื้นที่ เป็นด้วงในกลุ่มด้วงปีกสั้นชนิดใหม่ของโลก ล่าสุดได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว และกำลังจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารด้านด้วงของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ของญี่ปุ่นในเร็ว ๆ นี้
ตัวแรกมีชื่อว่า Articerodes thailandicus ตัวที่ 2 ชื่อ Articerodes Ohmumoi เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านด้วงจากญี่ปุ่น ตัวที่ 3 ชื่อ Articerodes Jariyae ซึ่งชนิดที่ 3 นี้ ถือว่ามีความพิเศษมาก เนื่องจากพบที่เขาคิชกูฎ จ.จันทบุรี เพียงแห่งเดียว มีสีสันสวยงาม สีน้ำตาลอมแดงทั้งตัว รูปร่างเหมือนน้ำเต้า ขนาดลำตัวเพียง 1.2 มิลลิเมตร มีหนวด 4 ปล้อง
นายวัฒนา กล่าวว่า ด้วงเหล่านี้สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า บ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศน์ของป่าแถบตะวันออกได้เป็นอย่างดี โดยพบว่าปริมาณและการกระจายพันธุ์ของด้วงจะขึ้นกับความสมบูรณ์ของป่า โดยเฉพาะในป่าดิบชื้นในเขตป่าเขาสอยดาว ป่าดิบแล้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จะมีด้วงมาก ขณะที่ป่าที่เปลี่ยนแปลง เช่น ป่าสักรุ่นที่สอง และป่าดิบแล้ง จะพบด้วงน้อยลง จึงน่าเป็นห่วงว่าถึงแม้ว่าด้วงจะยังไม่อยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก็จะกระทบโดยตรงกับถิ่นอาศัยของด้วง และอาจทำให้สูญพันธุ์ไปอย่างถาวรได้