xs
xsm
sm
md
lg

พาลูกไปเรียนเล่น ‘เต้นฮิปฮอป’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้องริว - อชิรกร สุขะวัชรานนท์
ยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีทางด้านวัฒนธรรมต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการดำเนินรอยตามชาติมหาอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการแต่งกาย แฟชั่น การใช้ชีวิต ทั้งหลายเหล่านี้...ล้วนแล้วแต่มาปรากฎตัวยังประเทศของเราทั้งสิ้น และเยาวชนคือผู้ที่ซึมซับสิ่งเหล่านี้ได้ดีที่สุด กระแสที่เข้ามาจากต่างประเทศมีอยู่มากมาย แต่กระแสหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือ ฮิปฮอป (Hip-Hop) ซึ่งในเมืองไทยเองมีกระแสนี้เข้ามานานพอสมควร ตั้งแต่แนวเพลงที่มีความสนุกสนาน กระแทกแดกดัน การแต่งกายตามแนวฮิปฮอป หรือการออกลีลาท่าเต้นที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง


แต่สำหรับการเต้นนั้น ณ เวลานี้ได้มีการนำท่าเต้นแบบฉบับฮิปฮอปมาประยุกต์เป็นการออกกำลังกายเพื่อการฝึกพัฒนาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน ที่ใช้การเต้นนี้เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เหมือนอย่างที่ ครูเฟ ปานศรีงาม ผู้สอนเต้นจากสถาบัน Kids’ Gallery อธิบายถึงความสำคัญของการเต้นว่า การเต้นเป็นกีฬาที่ละเอียดอ่อนมากๆ สามารถเป็นพื้นฐานของกีฬาทุกประเภทได้ ซึ่งหากพูดถึงพื้นฐานของการเต้นนั้นต้องอยู่ที่การเต้นบัลเลต์ เพราะบัลเลต์เป็นศาสตร์การเต้นที่มีการพัฒนามาหลายร้อยปี แต่ฮิปฮอปนั้นเป็นเหมือนแฟชั่น ที่มีการเต้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีพื้นฐานมาจากการเต้นบัลเลต์เช่นกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่จะได้รับจากการเต้นนั้นคือการยืดตัว ความแข็งแรง ความมีสมดุลของร่างกายที่ดี การผสานกันของกล้ามเนื้อ การถ่ายเทพลังงานในร่างกายให้ใช้ในการเต้นอย่างถูกต้อง อีกทั้งการเต้นยังเป็นการสร้างเสริมบุคลิกภาพ สร้างความสง่าให้แก่ร่างกาย เหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมานี้เองทำให้ในปัจจุบันนี้ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่นำเด็กมาเรียนเต้นมากขึ้น
ลีลาการสอนเต้นของครูซูกัส กับความมุ่งมั่นของเด็กๆ
** เด็กกล้าแสดงออก ทำกระแสฮิปฮอปติดลมบน

เมื่อถามถึงกระแสฮิปฮอปในไทย ครูเฟ บอกว่า เด็กทั่วโลกก็จะมีการเต้นในแบบฉบับที่เป็นของตัวเอง แล้วแต่ว่าใครจะชอบการเต้นแบบไหน สไตล์ไหน สำหรับเด็กไทยฮิปฮอป ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน ยุคนี้เป็นยุคที่เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง เด็กให้ความสำคัญในเรื่องของการแสดงออกในเรื่องต่างๆ หากเทียบกับอดีตแล้วเด็กจะไม่มีความกล้ามากเท่าตอนนี้

“การแต่งกายของเด็กที่เรียกตัวเองว่าเป็นแนวฮิปฮอปนั้นถือได้ว่าเป็นแฟชั่นแนวหนึ่ง หากจะบอกว่าถูกหรือไม่ถูกก็คงจะให้เหตุผลไม่ได้ เพราะการแต่งกายตามแบบฉบับฮิปฮอปนั้นก็เปรียบเหมือนศิลปะ ที่ไม่มีถูกผิด เพราะรูปภาพราคาแพงที่แขวนอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของจิตรกรชื่อดังก้องโลก ก็ล้วนแล้วแต่มาจากความคิดของเจ้าของผลงานที่แหกกฎแทบทั้งสิ้น เช่นกันในสมัยนี้ผู้ปกครองหลายคนมองเด็กที่สนใจฮิปฮอปว่าเป็นพวกเกเร เป็นเด็กก้าวร้าว ไม่เรียบร้อย แต่ทุกอย่างก็เป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ แค่เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ แต่การแสดงออกของเด็กไทยเป็นสิ่งที่น่ายกย่องอย่างมาก” ครูเฟ สะท้อนเรื่องราว
ลีลาการสอนเต้นของครูซูกัส กับความมุ่งมั่นของเด็กๆ
** รักการเต้น ต้องรู้ลึกจากรากฐาน
อีกคนที่เรียกได้ว่ามีการเต้นอยู่ในสายเลือดอย่าง ครูซูกัส-พัทธนนท์ เสมารัฐ ครูสอนเต้นหนุ่มสายเลือดใหม่จากสถาบันKids’ Gallery เล่าถึงความรักในการเต้นให้ฟังว่า ตนเองชอบเต้นบัลเลต์ จึงเรียนบัลเล่ต์มาโดยตลอดตั้งแต่มัธยมศึกษา เพราะเท่าที่เคยรู้มาการเต้นบัลเล่ต์นั้นจะเป็นพื้นฐานให้การเต้นในรูปแบบต่างๆ เมื่อเข้าช่วงของอุดมศึกษาก็ได้เรียนที่ศิลปกรรม จุฬาฯ ก็ยังไม่ทิ้งการเต้น แต่กลับเรียนเพิ่มในเรื่องของบัลเล่ต์เข้าไปอีก จากการที่ตนมีความสนใจการเต้นอย่างจริงจัง ทำให้มีคนมาทาบทามไปทำงานในส่วนของครูสอนเต้นเป็นระยะๆ เรียกได้ว่าช่วงนั้นส่งเสียตัวเองมากับการเต้นโดยตลอด

จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี คิดแล้วว่าตัวเองต้องเอาดีด้านการเต้นให้ได้จึงลงทุนบินไปเรียนการเต้นบัลเลต์ถึงอเมริกา เรียนอยู่ 2 ปีจนจบก็หอบความรู้เรื่องการเต้นทั้งหมดกลับบ้านจึงมีโอกาสได้ทำงานเรื่องการเต้นโดยตรง ในช่วงนั้นกระแสของฮิปฮอปกำลังเข้ามาในเมืองไทย ทำให้ได้เบนเข็มมาสอนเต้นฮิปฮอปทั้งที่ตัวเองมีความถนัดในเรื่องของบัลเลต์ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีปัญหาเพราะบัลเล่ต์เป็นพื้นฐานของการเต้นทำให้สามารถสอนได้

“การเป็นครูสอนเต้นฮิปฮอปนั้น เราไม่จำเป็นต้องเต้นดี แต่เพียงเราสามารถถ่ายทอดความรู้ การปรับใช้ท่าทางต่างๆ ถูกต้อง สามารถแยกวิธีต่างๆ ในการเล่นได้ ตลอดจนอธิบายความหมายเพื่อให้ผู้ที่มาเรียนนั้นเข้าถึงความหมายในการเต้นฮิปฮอป นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมงานครูสอนเต้นให้กับรายการดังอย่าง เดอะสตาร์ ที่ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่หากไม่ได้ง่ายๆ ถึงแม้จะเป็นเพียงผู้ช่วยแต่ประสบการณ์ที่เราได้รับนั้น จะทำให้เรารู้จักกับสายงานนี้มากขึ้น อีกทั้งยังได้นำประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้แก่เด็กที่เราสอนได้อีกด้วย”

** สอนเต้น หลักสูตรที่ต้องคิดตลอดเวลา
หากพูดในเรื่องของการสอนเต้นฮิปฮอปนั้น ครูซูกัส บอกว่า เป็นสิ่งที่ยากเช่นกัน เนื่องจากเราไม่สามารถเตรียมการสอนไว้ได้ล่วงหน้า ว่าในแต่ละชั่วโมงที่มีการเรียนนั้นจะให้อะไรแก่เด็ก ถึงแม้จะมีหลักสูตรเพื่อที่จะเป็นตัวบังคับให้สอนตามที่ระบุไว้ แต่การสอนเต้นนั้นหากวันไหนเด็กเบื่อไม่รับท่าทางอะไรใหม่ก็ถือว่าสอนได้ไม่ตามเป้า และหากวันไหนที่สอนได้อย่างรวดเร็ว เด็กให้ความสนใจก็ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะสอนท่าเต้นไหนต่อไป จึงต้องมีการปรับการสอนอยู่ตลอดเวลา

อีกอย่างคือเด็กที่สอนอยู่นั้นเป็นเด็กที่มีอายุเพียงแค่ 5-8 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่กำลังซน การจะให้เขาเชื่อฟังจึงเป็นสิ่งที่ยากเช่นกัน ซึ่งตนไม่ได้กำหนดให้เด็กต้องเต้นอย่างถูกต้องเสมอไปแต่ต้องการเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมกับชั้นเรียน มีส่วนร่วมกับเพื่อน มีความกล้าแสดงออก นี่คือสิ่งที่ตนพยายามทำให้กับเด็ก
ครูซูกัส-พัทธนนท์ เสมารัฐ
** เปลี่ยนพฤติกรรมเลียนแบบ มาเรียนรู้ให้ถูกต้อง
เมื่อกล่าวถึงมุมมองฮิปฮอปในเมืองไทยที่เป็นกระแสนิยมของเยาวชนนั้น ครูซูกัส ให้ความเห็นว่า ตอนนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นเด็กที่มีลักษณะการแต่งกาย ที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวฮิปฮอปอยู่ทั่วไป แต่จริงๆ แล้วคิดว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่เรากำลังทำกันนั้นเป็นสิ่งที่เราไปหยิบยืมวัฒนธรรมของตะวันตกมา เป็นการเลียนแบบมากว่า บางครั้งเห็นหลายคนเต้น แต่จริงแล้วก็ยังไม่เป็นตัวของตัวเอง เหมือนการลอกแบบมาจากคนดัง

สิ่งเหล่านี้ลอกแบบกันได้ แต่อยากให้ทุกคนที่คิดจะเป็นฮิปฮอปต้องรู้จริงถึงที่มา รู้ถึงปูมหลังของกระแสนี้ซึ่งเชื่อได้ว่าในเมืองไทยหากลุ่มที่ให้ความสนใจถึงรายละเอียดอย่างจริงจังน้อยมาก แต่คิดว่าผู้ที่มีความสนใจในแนวฮิปฮอปจริงๆ คงจะเข้าใจ

“จริงๆ แล้วจะไปชี้ชัดว่าใครถูกใครผิดก็คงไม่ได้ เพราะต่างคนก็ต่างสไตล์ อยู่ที่ว่าสิ่งที่เรารับมานั้นเรานำมาปรับใช้อย่างถูกต้องแค่ไหนสำหรับที่หลายคนมองว่าเด็กที่สนใจฮิปฮอปจะเป็นเด็กก้าวร้าว ออกนอกลู่นอกทาง ความจริงต้องดูที่สังคมด้วยว่าในกลุ่มที่เขารวมตัวกันนั้นเป็นอย่างไร แต่เท่าที่เห็นในบ้านเราตอนนี้เด็กที่เรียกตัวเองว่าฮิปฮอปก็ไม่ได้ก่อเรื่องอะไรมากมาย ไม่ได้ทำในสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเด็กที่สนใจฮิปฮอปนั้นอาจจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เน้นในเรื่องของการแต่งตัว ที่จะเห็นว่าชอบใส่เสื้อ กางเกงตัวใหญ่ๆ หรือกลุ่มที่เน้นในเรื่องของการเต้น"

"แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ในรายของกลุ่มที่เน้นการแต่งตัวก็ไม่สามารถที่จะเต้นได้ หรือในกลุ่มที่เน้นในเรื่องการเต้นบางกลุ่มก็ไม่ได้แต่งตัวที่บ่งบอกว่าเป็นฮิปฮอป ซึ่งทั้งหมดนี้ก็แล้วแต่ว่าเราจะเลือกอย่างไร” ครูซูกัส อธิบาย

ครูซูกัส ยังฝากถึงการออกกำลังกายโดยการนำท่าเต้นฮิปฮอปมาประยุกต์ว่า การที่เด็กให้ความสนใจในการเต้นประเภทนี้เพราะเมื่อเต้นได้แล้วจะทำให้ตัวเองดูเท่ห์ เพราะสิ่งที่เขาแสดงออกผ่านท่าเต้นนั้นมีท่าทางที่ทะมัดทะแมง เวลาเคลื่อนไหวร่างกาย สามารถสร้างจุดเด่นให้กับตัวเองได้ ตัวเด็กจะได้ปลดปล่อยอารมณ์ไปกับสิ่งที่ตนเองชอบ สร้างความกล้าแสดงออก

สำหรับการเตรียมตัวนั้นสิ่งแรกที่ควรมีคือใจต้องมาก่อน ไม่ใช่อยากเต้นเพราะโดนบังคับหรืออยากเต้นเพาะต้องการเลียนแบบใคร หากเป็นได้เช่นนั้นการเรียนเต้นฮิปฮอปก็จะประสบความสำเร็จในการเต้นและได้รับประโยชน์จากการเต้นมากที่สุด หากมองถึงการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์นั้นผู้ปกครองควรให้การส่งเสริม สนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในบางครั้งหลายๆ สิ่งที่พวกเขาสนใจและต้องการจะปฏิบัติในช่วงปิดเทอมนั้นไม่จำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องมาเสียเงินเรียน เพียงแค่ผู้ปกครองพยายามปรับสิ่งที่อยู่รอบตัวให้เป็นการเรียนรู้ได้หมด และสามารถมุ่งไปในทางนั้นได้
ครูเฟ  ปานศรีงาม
** เต้นฮิปฮอป กิจกรรมยามว่างช่วงปิดเทอม
แรงผลักดันที่สำคัญสำหรับเด็กคือผู้ปกครองที่จะคอยสนับสนุนให้พวกเขาทำในสิ่งที่ชอบเหมือนอย่าง สุพิชฌาย์ ธีระวิทยาพรรณ คุณแม่ของ น้องริว-ด.ช.อชิรกร สุขะวัชรานนท์ อายุ 6 ขวบ เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่ท้องน้องริวนั้นตนเป็นคนที่ชอบฟังเพลงที่มีจังหวะมันๆ อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เมื่อน้องริวเกิดมาทำให้เขาเป็นเด็กที่ชอบฟังเพลง ชอบเสียงเพลง และที่สำคัญคือชอบเต้น หากได้ยินเสียงเพลงน้องริวจะเต้นตามทุกครั้ง

และจากการที่ตนได้สังเกตเห็นลูกว่ามีพฤติกรรมที่รักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ จึงอยากที่จะสนับสนุนลูก เพราะเห็นว่าการเต้นก็เป็นการฝึกทักษะการแสดงออกทางหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยฝึกในด้านของการเคลื่อนไหวให้กับร่างกาย เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของเขา ทำให้เมื่อเขาโตขึ้นมาระดับหนึ่งจึงส่งเสริมให้มีการเรียนเต้นอย่างจริงๆ จังๆ โดยเลือกที่จะให้เรียนเต้นฮิบออบ

“จริงๆ แล้วไม่รู้มาก่อนว่าฮิปฮอปเป็นอย่างไร ที่ได้เห็นก็แต่เด็กที่เรียกตัวเองว่าเป็นแนว ฮิพฮอพจะดูมีท่าทางเหมือนเด็กเกเร ก้าวร้าว แต่เมื่อนำลูกมาทดลองเรียนทำให้เปลี่ยนความคิดทันทีเพราะการเต้นฮิปฮอปนั้นเป็นการฝึกให้มีการเต้นตามจังหวะ ช่วยให้ลูกมีสมาธิ เนื่องจากลูกเป็นเด็กที่ค่อนข้างมีสมาธิสั้น ไม่ค่อยที่จะจดจ่อกับอะไรง่ายๆ แต่เมื่อมาเรียนเต้นทำให้ต้องจดจำท่าเต้น จึงเป็นการช่วยฝึกสมาธิที่ดีทางหนึ่ง อีกทั้งเป็นการเต้นที่มีลีลาสนุกสนานเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ซึ่งหากในอนาคตลูกยังสนใจเต้นก็จะสนับสนุนอย่างเต็มที่”

คุณแม่น้องริว ยังบอกอีกว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม อยากจะให้ผู้ปกครองหากิจกรรมอะไรก็ได้ที่จะช่วยให้ลูกมีการสร้างทักษะที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องเป็นในเรื่องของวิชาการที่เครียดเสมอไป การเต้น การออกกำลังกาย การเรียนดนตรีก็เป็นการช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีได้ อีกทั้งยังไม่ทำให้เครียดเป็นการใช้เวลาว่างของลูกให้เกิดประโยชน์ เพราะหากไม่ได้มาเรียนลูกก็จะดูทีวี นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นการคอยกระตุ้นให้เขาเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

** ทำในสิ่งที่ใช่เพื่อตัวเอง
มาถึงตรงนี้ครูเฟ ปิดท้ายว่า การเต้นไม่ว่าจะแสดงออกที่ไหนก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไร เพียงแต่ต้องระมัดระวังในการใช้ร่างกายให้ถูกต้องเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะทำให้เจ็บตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงควรทำการศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่เราต้องการจะทำ เพื่อความถูกต้องในการปฏิบัติ เปรียบได้กับการสร้างตึกที่ช่วงของการวางฐานรากนั้นจะใช้ระยะเวลานาน เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของตึก

แต่เมื่อมาถึงช่วงของโครงสร้างอื่นก็สามารถทำโดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่นานก็จะได้เป็นตึกที่สมบูรณ์แบบได้ ฉะนั้นการวางรากฐานจึงมีความสำคัญที่สุด เช่นกันกับการเต้นที่เราต้องมีรากฐานที่มั่นคง

“ผู้ปกครองบางรายที่สนับสนุนให้ลูกเรียนเต้น แค่ต้องการให้ลูกมีบุคลิกภาพที่ดี มีสมาธิ ยืนตรง มีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้ลูกได้เป็นนักเต้นมืออาชีพ ซึ่งในส่วนนี้ก็ควรปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของลูก ว่าเขาต้องการสิ่งเหล่านี้มากแค่ไหน และสิ่งที่พวกเขาได้รับความรู้มาเขาจะนำไปใช้ทำอะไร สามารถสนองตอบความชอบของเขาได้หรือไม่ การเรียนเต้นจึงอยู่ที่ว่า พ่อแม่อยากให้ลูกได้อะไร ลูกอยากได้อะไร และตัวลูกเองมีความพร้อมแค่ไหน” ครูเฟ ฝากข้อคิด
กำลังโหลดความคิดเห็น