xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอากาศร้อนจัดเสี่ยง “โรคฮีตสโตรก” แนะป้องกันดื่มน้ำมากๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. ชี้สภาพอากาศร้อนจัด เสี่ยงคนไทยเป็น “โรคฮีตสโตรก” หรือ “โรคลมแดด” ระบุอันตรายมาก ทำให้ตัวร้อนจัด โอกาสเสียชีวิตสูงถึง 70% ผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดวดเหล้าจัด รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องระวังเป็นพิเศษ แนะวิธีป้องกันให้ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ควรให้ได้วันละ 2 ลิตร

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยร้อนมากอันเป็นผลพวงมาจากสภาวะโลกร้อน ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหลายโรคที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วง และให้ทุกจังหวัดป้องกันอย่างเข้มงวดในขณะนี้ คือ โรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ซึ่งเกิดบ่อยที่สุด แต่โรคที่ยังมีการพูดถึงกันน้อยมากในประเทศไทยคือ โรคลมแดด ซึ่งเกิดในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีประชาชนเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ปีละประมาณ 371 คน ส่วนในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานใครเสียชีวิต ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเสียชีวิต

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า อาการผิดปกติที่เกิดจากความร้อนมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ไม่เป็นอันตรายที่รู้จักกันทั่วไปคือ เป็นลม มีอาการมืดหน้า เป็นตะคริว หมดแรงจากความร้อน ซึ่งอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนด้วย แต่ที่อันตรายที่สุด คือ การเป็นลมแดด หรือที่การแพทย์เรียกว่า ฮีทสโตรก (Heat stroke) เป็นภาวะวิกฤตของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า โรคลมแดดนี้เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังหรือเล่นกีฬาในภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน อาจจะเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง จัดเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70 เปอร์เซ็นต์

 “อาการสำคัญ ได้แก่ ตัวร้อนจัด เพ้อหรือหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ช็อค ผิวหนังแห้งและร้อน ระดับความรู้สึกตัวลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย เอะอะ ก้าวร้าว หมดสติ เกร็ง ชัก โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อน จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ปราชญ์กล่าว
 
ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่เป็นจะกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ซึ่งจะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย โดยหากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ในการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นำผู้ที่มีอาการเข้าร่ม ให้นอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเลย เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุดในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามากๆ

ด้านนพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอันตรายจากอากาศร้อนจัด ได้แก่ การขาดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศร้อน ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องกินยาควบคุมความดัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับสารโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ได้เร็วกว่าผู้อื่น นอกจากนี้ ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน ก็เสี่ยงเกิดโรคฮีตสโตรกได้ เนื่องจากร่างกายจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ และผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ในขณะที่มีสภาพอากาศร้อน ร่างกายจะมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม เนื่องจากการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย

สำหรับสาเหตุที่คนอ้วนที่มีความเสี่ยงต่อโรคฮีทสโตรกนั้น เนื่องจากคนอ้วนจะมีไขมันที่ผิวหนัง ซึ่งทำหน้าที่คล้ายฉนวนกันความร้อน ทำให้คนอ้วนสามารถเก็บความร้อนได้ดี แต่การระบายความร้อนออกจากร่างกายทำได้น้อยกว่าคนทั่วๆ ไป นอกจากนี้ บริเวณผิวหนังที่มีไขมันมากมักมีต่อมเหงื่อน้อยลงด้วย คนอ้วนจึงมีโอกาสเกิดปัญหาได้ง่าย

นพ.เรวัต กล่าวต่อไปว่า วิธีการปรับสภาพร่างกาย เพื่อป้องกันอันตรายในช่วงที่มีอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะต้องต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยปกติควรดื่มน้ำให้ได้ 2 ลิตรต่อวัน หากทำงานในที่ร่มควรดื่มอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ จะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ การสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมหรือไม่ ประชาชนสามารถสังเกตง่ายๆจากสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเหลืองเข้มและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มากๆ สำหรับการออกกำลังกายในฤดูร้อน สามารถกระทำได้ โดยค่อยๆ ออกกำลังกายและเพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกายขึ้นเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น