โรงพยาบาลตามหัวเมืองต่างๆ ไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ จะพบกับความแออัดของผู้เจ็บป่วย และคนเยี่ยมไข้ จนบางครั้งแทบจะแยกไม่ออกว่าใครเจ็บใครไม่เจ็บ โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2550 สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเอแบคโพลล์ สำรวจความเห็น ประสบการณ์ และความคาดหวังของประชาชน ต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ปัญหาที่ต้องการให้เร่งแก้ไข คือ มารยาทของเจ้าหน้าที่ให้บริการ ร้อยละ 48.3 ให้ความรู้ประชาชน ร้อยละ 47.7 และความหนาแน่นของสถานพยาบาลบางแห่ง ร้อยละ 44.8
ที่ผ่านมา ญาติผู้ป่วยหลายรายเบื่อหน่ายกับความแออัด และการรอคิวร่วมหลายชั่วโมง แต่ก็ไม่มีทางเลือกมากนักหากอยากให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ แต่ก็มีไม่น้อยที่โรงพยาบาลหลายแห่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากความทุกข์ และความไม่พึงพอใจกับการให้บริการ ซึ่งรพ.สรรพสิทธิประสงค์ สถานพยาบาลที่นับเป็นศูนย์กลางและใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดข้างเคียงประสบปัญหานี้เมื่อ 2 ปีก่อน จนกระทั่งกลุ่มชมรมพระพุทธศาสนาและจริยธรรมนำโดยกลุ่มพยาบาลดูแลผู้ป่วยนอกนำพระพุทธศาสนาเข้ามาประยุกต์ใช้กับการให้บริการในโรงพยาบาล
นพ.ธีรพล เจนวิทยา ผู้อำนวยการ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ (อุบลราชธานี) ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เป็นสถานพยาบาลแรกๆ ที่นำความสงบร่มเย็นของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในกลุ่มงานบริการผู้ป่วยนอก ทำให้ปี 2550 แทบจะไม่พบข้อร้องเรียนจากผู้ป่วย ซึ่งวิธีการที่ใช้มี 2 วิธีคือ การเจริญสมาธิ และจัดมุมสงบพบพระธรรม
“หลังเคารพธงชาติตอนเช้า พยาบาลประจำห้องตรวจโรคพาคนเจ็บ คนป่วย และญาติมาเจริญสมาธิประมาณ 5 นาที ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่สงบเยือกเย็น มีความรู้สึกเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมสุขและเป็นฝ่ายเดียวกัน ซึ่งความรู้สึกนี้จะก่อให้เกิดการถ้อยทีถ้อยอาศัย พูดคุยกันด้วยท่าทีที่เป็นมิตร อีกทั้งยังสามารถเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ เจ้าหน้าที่ก็จะบริการอย่างดี และผู้ป่วยก็มีสุขภาพจิตดีตาม”
สำหรับกลวิธีจัดมุมสงบพบพระธรรมนั้น เริ่มจัดในแผนกที่เคยเกิดข้อร้องเรียน และมีความแออัดมากที่สุดในโรงพยาบาล คือ แผนกอายุรกรรมเป็นจุดแรก โดยจัดเก้าอี้นั่งแถวละ 4 ตัว 1-2 แถว บริเวณที่นั่งรอเรียกตรวจของผู้ป่วย แล้วตั้งแผงหนังสือธรรมะ ประวัติเกจิอาจารย์ดังจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วย ญาติหรือคนทั่วไปสามารถศึกษาพระธรรมได้ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากญาติผู้ป่วยจนต้องเพิ่มมุมนี้ในแผนกอื่นๆ ของโรงพยาบาลอีกหลายจุด
“สิ่งที่เราพบคือไม่มีปัญหาการแซงคิวกัน การแสดงออกระหว่างคนไข้และเจ้าหน้าที่ดีขึ้น ซึ่งชมรมจริยธรรมในโรงพยาบาลมีเกือบทุกแห่ง ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดในโรงพยาบาลได้ดีแค่ไหน สำหรับสรรพสิทธิประสงค์ถือเป็นต้นแบบที่ดี”
ดังนั้น ปัญหาการหย่อนบัตรร้องเรียนลดลงจำนวนมากจากการแก้ปัญหาด้วยกลไกในโรงพยาบาลขนาดใหญ่แล้วได้ผล ผอ.สปสช.พื้นที่เขตอุบลราชธานี ยังกล่าวอีกด้วยว่า การส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายโรงพยาบาลเครือข่ายให้มีความเข้มแข็ง เพื่อลดความแออัดที่มีอยู่ให้บรรเทาเบาบาง อีกทั้งจะยังเพิ่มประสิทธิภาพให้สถานพยาบาลรอบนอกได้ด้วย