xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชี้ “หัดแมว” เป็นสาเหตุแมวอ่างทองตายจำนวนมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัตวแพทย์ชี้แมวอ่างทองตาย น่าจะเกิดจากโรคหัดแมว ยันไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์อื่น มีวัคซีนป้องกันได้ เตือนโรคพิษสุนัขบ้าน่ากลัวมากกว่า เด็ก วัย 5-9 ปี เสี่ยงถูกกัดมากสุด แนะล้างมือให้สะอาดหลังเล่นสัตว์เลี้ยงป้องกันพยาธิ หากเจอสัตว์ป่วย ควรแยกขังไว้ ไม่สัมผัสสัตว์ตายโดยตรง

จากกรณีพบแมวในหมู่บ้านชะไว ต.ชะไว อ.ไชโย จ.อ่างทอง ตายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบที่ตำบลใกล้เคียง คือ หมู่ 1 ต.จระเข้ร้อง หมู่ 1 ต.หลักฟ้า และประชาชนตื่นกลัวเนื่องจากอาจนำโรคสู่คนนั้น สพ.ญ.อภิรมย์ พวงหัตถ์ นายสัตวแพทย์ 8 สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประเมินผลเบื้องต้น มีข้อสันนิษฐาน 2 โรค คือ ไข้หวัดแมว และ ไข้หัดแมว ที่สามารถทำให้แมวเสียชีวิตได้จำนวนมาก แต่ไข้หวัดแมวนั้น จะมีผลต่อระบบหายใจอย่างเดียว ส่วนอาการที่พบใน จ.อ่างทอง นั้น มีอาการของทางเดินอาหารร่วมด้วย ทำให้สันนิษฐานว่าจะเกิดจากโรคหัด ซึ่งไม่สามารถติดต่อสู่คนได้ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น และเป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกัน

สพ.ญ.อภิรมย์ กล่าวต่อว่า ไข้หัดแมว มีสาเหตุจากเชื้อ แพนลิวโคพีเนีย (Panluekopenia Virus) สามารถติดต่อได้ง่ายในกลุ่มแมว มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร ซึ่งหากเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะสามารถทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างทำให้สัตว์เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งในประเทศไทยก็มีการระบาดลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกปีแต่ไม่รุนแรง โรคที่ประชาชนควรระมัดระวังมากกว่า คือ โรคพิษสุนัขบ้า โดยจากสถิติโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากสุนัขมากถึง 94 เปอร์เซ็นต์ สัตว์อื่นๆ 3-4 เปอร์เซ็นต์ แมว 2-3 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กอายุ 5-9 ปี จะมีโอกาสโดนสัตว์เลี้ยงกัดได้มากที่สุด หากมีเด็กจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

“การติดต่อโรคหัดแมว จะเข้าสู่ปากโดยตรง ภายใน 18-24 ชั่วโมง จะมีไข้ เพราะอาการจะเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปยังท่อน้ำเหลืองต่างๆ โดยเชื้อจะชอบอวัยวะที่มีการแบ่งตัว เช่น ตามผนังลำไส้ส่วนกลาง ส่วนปลาย ทำให้เกิดเนื้อเยื่อตาย และไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ หากเกิดในลูกแมวจะทำให้สมองลีบเล็กตายอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่ควรระวังอีกอย่าง คือ พยาธิในสัตว์เลี้ยง มองเห็นได้จากภายนอก คือ จะมีหมัด เพราะหมัดจะกินไข่พยาธิในตัว เพราะฉะนั้น ควรระวังหากมีเด็กเล็กเพราะสามารถรับพยาธิตัวตืด พยาธิตัวกลมในสัตว์เลี้ยงได้ จึงควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง”สพ.ญ.อภิรมย์ กล่าว

สพ.ญ.อภิรมย์ กล่าวอีกว่า ข้อแนะนำสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ คือ นำลูกแมวอายุ 9 สัปดาห์ขึ้นไป ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทั้งพิษสุนัขบ้า และหัด โดยแมวที่อยู่ในพื้นที่โรคระบาดขังไว้ก่อนป้องกันการรับเชื้อเพิ่ม ประมาณ 2 สัปดาห์ และช่วงที่มีการระบาดแมวที่ยังไม่ติดเชื้อก็ควรแยกไว้เพื่อป้องกันการรับเชื้อ สัตว์เลี้ยงอื่น ให้นำสัตว์ไปฉีดวัคซีนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนประชาชนที่โดนสัตว์กัดไม่ว่าแมวหรือสุนัข ขอให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที ให้ใส่ยาโพรวิโดนไอโอดีน และให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และกินยาตามที่แพทย์สั่ง โดยให้กักสัตว์ที่กัดไว้สังเกตอาการ 10 วัน หากไม่มีอาการแสดงว่าสัตว์ไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

“อีกโรคหนึ่งที่ต้องระวังจากแมว คือ เชื้อก่อโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ซึ่งเป็นเชื้อโปรโตซัวที่อยู่ในอุจจาระของแมว ในบ้านเราพบได้น้อยมาก โรคนี้ไม่เป็นปัญหากับบุคคลทั่วไป มีปัญหาเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ที่ไปสัมผัสกับอุจจาระของแมวที่ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้แท้งหรือเด็กในครรภ์มีความพิการได้” สพ.ญ.อภิรมย์ กล่าว

ด้าน นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ความรู้ในการป้องกันโรค โดยให้ประสานกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอ่างทอง เพื่อร่วมตรวจสอบหาข้อมูล และให้ความรู้แก่ประชาชนในการกำจัดซากแมว การดูแลแมวที่ป่วยอย่างถูกวิธี จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีแมวป่วยตาย 50-60 ตัว ด้วยอาการซึม อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด และเสียชีวิตในเวลา 2-3 วัน โดยเป็นแมวในบ้านเดียวกันจำนวนหลายหลังคาเรือน บางบ้านมีจำนวนถึง 18 ตัว โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอ่างทองสันนิษฐานจากอาการเบื้องต้นว่า คล้ายหวัดแมว จึงเก็บซากแมวจำนวน 1 ตัว แมวป่วย 1 ตัว ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

นายไชยา กล่าวต่อว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้แมวป่วยและตาย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการกำจัดซากแมวที่ตายให้ถูกวิธี โดยการฝังและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบริเวณที่แมวตาย ดูแลแมวที่กำลังป่วยอย่างถูกวิธี ทำความสะอาดบริเวณบ้าน เก็บขยะสิ่งของ แยกเด็กเล็กให้อยู่บนบ้าน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ในช่วงนี้ขอให้อยู่ห่างจากแมวที่ป่วย ไม่ควรอุ้มแมวเล่นหรือเอาแมวไปนอนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น