โจ๋ไทย 1 ใน 4 ท่องเน็ตเกิน 2 ชม.ต่อวัน เล่นเกมอีก 2 ชม. เฉียด 40% ดูรูป-เรื่องโป๊ เป็นกิจวัตร คลิปโป๊ฮิตแซงหน้าวีซีดี ห่วงปิดเทอมเด็กจมหน้าจอคอมพ์ อึ้งคนไทยเป็นประเทศที่ 2 ในโลกเข้าเว็บไฮไฟว์ ชี้แข่งกันนับแต้มเพื่อนในเน็ตมากกว่าดูเว็บหาข้อมูลความรู้ วธ.วอนรัฐบาลตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์” เปิด “มหกรรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์” ขจัดสื่อร้าย-ขยายสื่อดี
ที่อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) จัดงานอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผจก.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสำรวจสภาวะการณ์เด็กด้านสื่อล่าสุดปี 2550 ของสถาบันรามจิตติ พบเด็กใช้เวลากับสื่อมากขึ้น เด็กไทย 25% หรือ 1 ใน 4 คน เข้าอินเทอร์เน็ตทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 2 ชม.20 นาที ขณะที่เด็ก 20% เล่นเกมออนไลน์หรือเกมคอมพิวเตอร์เป็นประจำวันละ 2 ชม. เด็กโดยเฉลี่ย 30-40% เสพสื่อลามกเป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำ เด็กนิยมดูคลิปโป๊มากเป็นอันดับหนึ่ง แซงวีซีดีโป๊และเว็บโป๊ที่เคยเป็นอันดับ 1-2 ซึ่งคลิปโป๊ต่างๆ ก่อนจะมาอยู่ในมือเด็กๆ 98% ถูกเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต
“ในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือกัมพูชา ส่วนใหญ่อินเทอร์เน็ตจะถูกใช้เชิงสร้างสรรค์ ทั้งการสอนภาษา ค้นข้อมูลความรู้ แต่ในไทยข้อมูลชี้ชัดว่าเด็กส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับอินเทอร์เน็ต เกมคอมพิวเตอร์ แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้เข้าถึงสื่อลามก ความรุนแรง ยิ่งตอนนี้เป็นช่วงปิดเทอม เด็กมีเวลาอยู่หน้าจอมากขึ้น ทั้งที่บ้าน และร้านอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่อย่างน้อย 4 หมื่นร้านทั่วประเทศ ร้านอินเทอร์เน็ตคือชุมชนที่เด็กใช้รวมตัวกันช่วงปิดเทอม สสส. กระทรวงวัฒนธรรม และบริษัทไมโครซอฟฯ จึงมีแนวคิดจัดโครงการร้านอินเทอร์เน็ตสร้างสรรค์ ทำให้ร้านเน็ตเป็นที่ฝึกฝนความสามารถ การใช้คอมพิวเตอร์ในระดับต่างๆ โดยมีการออกหนังสือรับรองให้เด็กๆ ด้วย” ทพ.กฤษดา กล่าว
นายสุนิตย์ เชรษฐา ผจก.แผนงานไอซีที สสส.กล่าวว่า สถิติการใช้เว็บไซด์ของไทยเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบเว็บอันดับหนึ่งที่คนไทยเข้ามากที่สุดคือ เว็บไฮไฟว์ หรือเว็บผองเพื่อน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 2 ในโลก รองจากประเทศโดมินิกันรีพับบลิก ที่เข้าใช้เว็บประเภทอื่น มากกว่าการใช้เว็บเพื่อค้นหาข้อมูลอย่างกูเกิล วัยรุ่นกำลังแข่งกันนับแต้มว่าใครจะมีคนเข้ามาตอบรับเป็นเพื่อนในไฮไฟว์มากกว่ากัน ขณะที่เว็บในไทยต่างพยายามนำเรื่องเซ็กซ์ หรือคำว่าเซ็กซ์ มาใส่ในเว็บ ให้มีคนเข้าชมมากๆ ไม่สนใจแข่งขันด้านเนื้อหาสาระ เพราะคนไทยยังใช้คำว่า “เซ็กซ์” เป็นคำค้นหาเพื่อเข้าเว็บไซต์
น.ส.ลัดดา ตั้งศุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวว่า เทคโนโลยีเกิดขึ้นรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น ภัยร้ายจากอินเทอร์เน็ตและสื่ออื่นจึงเกิดขึ้นเสมอ หลายหน่วยงานจึงร่วมกันเสนอให้ตั้ง คณะกรรมการสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ กระทรวงวัฒนธรรมในฐานะเลขานุการ ได้ส่งหนังสือยืนยันความพร้อมในการทำงานไปยังรัฐบาลแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับนโยบายขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี ของรัฐบาลจึงหวังว่ารัฐบาลจะเห็นชอบกับการแต่งคณะกรรมการชุดนี้
นางศรีดา ตัณทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า หลายหน่วยงานร่วมกันป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กใช้สื่ออินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสม ซึ่งปิดกั้นได้ยาก แนวทางสำคัญจึงเป็นการส่งเสริมให้เด็กใช้ในทางที่เหมาะสม สสส. จึงร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ศูนย์อินเทอร์เน็ตสร้างสรรค์และปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) และห้าง เซ็นทรัล เวิรด์ จัด “มหกรรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์” เสนอแนวทาง อบรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย มีเป้าหมายคือเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง
นางศรีดา กล่าวอีกว่า มีการนำตัวอย่างดีๆ ของการสร้างคลิปวิดีโอ บล็อกเว็บไซต์ที่แสดงความคิด แสดงตัวตนได้อย่างเต็มที่ แต่อยู่บนความรับผิดชอบต่อสังคม การปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ ซึ่งมีเป้าหมายจะทำให้เกิดชุมชนออนไลน์สร้างสรรค์ ไม่น้อยกว่า 20% ภายใน 1 ปี เกิดโครงสร้างระบบป้องกันภัยจากอินเทอร์เน็ตให้กลุ่มเสี่ยง อาทิ ป้องกันการใช้คำค้นหา ที่ไม่เหมาะสมอย่าง เซ็กซ์ ขายตัว และเกิดความร่วมมือพัฒนานโยบายอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสร้างสรรค์