xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมผลิต “เอฟฟา-อลูเวีย-พลาวิกส์” อภ.เชื่อไม่แพงกว่าอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อภ.เตรียมผลิตยาซีแอล 3 รายการ ยาต้านไวรัสเอดส์ เอฟฟาไวเรนซ์ อลูเวีย และยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง ทดแทนการนำเข้า มั่นใจราคาไม่สูงกว่ายาที่นำเข้าจากอินเดีย ส่วนยามะเร็งที่ทำซีแอลยังไม่พร้อมทำเอง ระบุ สร้างโรงงานยามะเร็งเอง อาจไม่คุ้มค่า


วันนี้ (12 มี.ค.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า การดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ยามะเร็ง 3 รายการ ขณะนี้ดำเนินการไปตามขั้นตอนเป็นปกติ ไม่มีการหยุดชะงัก หรือชะลอแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ยา 3 รายการแรกที่ สธ.ทำซีแอล ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอดส์เอฟฟาไวเรนซ์ ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์ และ ริโทนาเวียร์ (อลูเวีย) และยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมองโคลพิโดเกรล (พลาวิกซ์) นั้น

อภ.ได้มีการวิจัยทดลอง โดยสั่งนำเข้าสารเคมีตั้งต้นในการผลิตยาจากประเทศอินเดีย เพื่อทดลองผลิต โดยคาดว่า อีก 6 เดือนจึงจะทราบผลว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จากนั้นจะมีการนำมาวิจัยในคน เพื่อทดลองกับผู้ป่วย ดังนั้นหากสำเร็จอภ.จะผลิตทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ประมาณสิ้นปีนี้

“ส่วนเรื่องราคานั้น หากดำเนินการสำเร็จ อภ.จะพยายามไม่ให้ราคาสูงกว่าที่นำเข้าจากประเทศอินเดียแต่อาจมีราคาต่ำกว่าก็ได้ แต่จะพยายามให้ใกล้เคียงที่สุด เนื่องจากต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านอัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินบาท และค่าน้ำมันที่ผันผวน เพราะจะกระทบต่อการสั่งซื้อสารตั้งต้น อย่างไรก็ตามทางบริษัทยาสามัญจากประเทศอินเดียได้เปรียบในเรื่องราคาที่สามารถเสนอในราคาต่ำได้เนื่องจากผลิตในปริมาณมาก เพราะแม้แต่บริษัทยาต้นตำรับก็ยังตกใจว่าเพราเหตุใดบริษัทยาสามัญสามารถเสนอราคายาที่ต่ำได้ขนาดนั้น อีกทั้งการผลิตครั้งนี้ต้องไม่แสวงหากำไรด้วย” นพ.วิทิต กล่าว

นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยามะเร็งอีก 4 รายการ ที่มีการทำซีแอล เช่นเดียวกัน ยังไม่มีแผนในการผลิตเนื่องจากอยู่ในขั้นการริเริ่มศึกษา อีกทั้งการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งจำเป็นต้องใช้โรงงานที่เป็นการเฉพาะแยกออกจาการผลิตยาทั่วไป ซึ่งขณะนี้แผนการของ อภ.มีลำดับความสำคัญในการสร้างโรงงานยาต้านไวรัสเอดส์ ที่คลอง 10 จ.ปทุมธานี มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท และโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกที่อ.ทับกวาง จ.สระบุรี ก่อน ทั้งนี้ ก็จะเก็บข้อมูลว่าจะมีโอกาสสร้างหรือไม่ โดยจะต้องวิเคราะห์ในเรื่องความคุ้มทุนด้วยเนื่องจาก ยามะเร็งส่วนใหญ่สารตั้งต้นที่จะต้องนำเข้ามีราคาแพงมาก

นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า ในส่วนโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์แห่งใหม่ที่ จ.ปทุมธานี ได้ลงเสาเข็มไปแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มี.ค.นี้ โดย นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีครั้งนี้ด้วย คาดว่า ใช้เวลาก่อสร้างตัวอาคารประมาณ 10 เดือน หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะเสร็จประมาณสิ้นปีนี้ และจากนั้นยังต้องติดตั้งเครื่องมืออีกประมาณ 6 เดือนด้วย

นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า ในส่วนการจะสรรหาตัวกรรมการบริหาร อภ.ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ 3 ท่านแล้วนั้นขึ้นอยู่กับการประชุมของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งในวันที่ 13 มี.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารชุดเล็ก ส่วนในวันที่ 25 มี.ค.คณะกรรมการบริหารชุดใหญ่คงจะหารือกันในประเด็นดังกล่าว ส่วนจะมีการลาออกเพิ่มหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เนื่องจากกรรมการบริหารจะต้องยื่นใบลาออกกับประธานบอร์ด แต่ตนเองมีหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น